หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ นำนวัตกรรม Butterfly Qi อุปกรณ์อัลตราซาวด์ปอดเชื่อมต่อแอปพลิเคชั่นสมาร์ทโฟนมาช่วยคัดกรองโควิด-19 เพื่อลดภาระโรงพยาบาล

BBC

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 สำนักข่าว เซาธ์เวสต์นิวส์เซอร์วิส ของอังกฤษ รายงานว่า ทีมการแพทย์ของหน่วยงานบริการสาธารณสุขแห่งชาติของสหราชอาณาจักร เริ่มต้นนำเครื่องอัลตราซาวด์ขนาดพกพาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สมาร์ทโฟน มาใช้ในการตรวจอาการที่เกิดจากเชื้อโควิด-19 การนำอุปกรณ์นี้มาใช้ เป็นส่วนหนึ่งของระบบคัดกรองอาการและความรุนแรงของผู้ป่วย

จากการระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบกับระบบสาธารณสุขของอังกฤษอย่างมาก ดร.แอนดรูว วอลเดน ที่ปรึกษาด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินและแผนกผู้ป่วยวิกฤต และ ดร.โจเซฟ นูนัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการอัลตราซาวด์จากโรงพยาบาลรอยัลเบิร์กเชียร์ ได้ร่วมกันจัดทำระบบใหม่ที่สามารถเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด และช่วยแบ่งเบาภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล

โดยคณะทำงานได้นำเอาเทคโนโลยีอัลตราซาวด์เฉพาะจุด (POCUS) ทำงานร่วมกับ เครื่องบัตเตอร์ฟลาย ไอคิว (คิดค้นโดยกลุ่มแพทย์อเมริกัน ซึ่งถูกวางจำหน่วยในปี พ.ศ.2561) มาใช้ นวัตกรรมที่ย่อส่วนเครื่องอัลตราซาวด์มาอยู่ในรูปอุปกรณ์พกพานี้ สามารถสแกนได้ทั่วทั้งร่างกายและแสดงผลโดยทันทีเมื่อเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน นวัตกรรมนี้จะช่วยให้บุคลากรทางด้านการแพทย์ประหยัดเวลาในการวินิจฉัยผู้ป่วยอย่างมาก

ระบบคัดกรองอาการนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจาก ระบบที่ใช้ในเมืองเบรสชา ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป

ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล หรือคลินิกทั่วไปที่สงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 จะถูกคัดกรองจากระยะไกลด้วย เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด ต่อจากนั้นแพทย์จะใช้บัตเตอร์ฟลาย ไอคิว ซึ่งสามารถสแกนปอดได้อย่างรวดเร็วในการคัดกรองอาการและความรุนแรง เพื่อระบุว่าผู้ป่วยคนใดจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนโดยไม่ต้องตรวจด้วยวิธีเอกซเรย์ปอด

การใช้เทคโนโลยีนี้ ทำให้แพทย์สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วว่า ผู้ป่วยใดจำเป็นต้องได้รับการรักษาก่อน และผู้ป่วยใดมีอาการที่ไม่รุนแรงและสามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ เนื่องจากเตียงของโรงพยาบาลมีจำกัด จึงต้องสงวนไว้เฉพาะผู้ที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

ดร.วอลเดน และ ดร.นูนัน ได้ทำการอบรมให้แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปได้ทราบวิธีใช้และสามารถปฏิบัติงานกับเครื่องมือเครื่องบัตเตอร์ฟลาย ไอคิว โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองขั้นปฐมภูมิด้านระบบการหายใจ เพื่อทำการวินิจฉัยในขั้นต้น และการอ่านผลสแกน เพื่อช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อคณะแพทย์ในโรงพยาบาลที่ต้องรับผู้ป่วยไปบำบัดรักษาต่อไป

ดร.วอลเดน กล่าวว่า ระบบคัดกรองโควิด-19 ที่พวกเขาจัดทำนั้น เป็นเพียงตัวอย่างแรกในการแสดงให้เห็นว่า การทำงานโดยเปิดรับนวัตกรรมมาใช้นั้น สามารถช่วยผู้ป่วยและโรงพยาบาลให้ผ่านจุดวิกฤตมาได้

ในช่วงเจ็ดสัปดาห์แรกที่นำนวัตกรรมมาใช้ คณะแพทย์หน่วยคัดกรองโรค ได้ตรวจผู้ป่วย 960 ราย โดยร้อยละ 36 สงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่มีเพียง 46 รายที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล (ร้อยละ 13.2 ของผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อ)

BBC

การใช้บัตเตอร์ฟลาย ไอคิว ที่มีระบบเก็บข้อมูลออนไลน์ ทำให้แพทย์เวชศาสตร์ทั่วไปสามารถส่งภาพการสแกนในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไปเพื่อปรึกษาหารือกันในเครือข่ายได้

ดร.ชวาน แมรูฟ หัวหน้าแพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป ประจำ เวอร์จิ้นแคร์ (ผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่ได้รับทุนจากภาครัฐและได้รับมอบหมายจากสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ) กล่าวว่า การวินิจฉัยอย่างรวดเร็วเป็นแนวทางใหม่ในการเข้าถึงการดูแลเชิงรุก แพทย์สามารถทำได้ และผู้ป่วยก็สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ แพทย์ต้องเรียนรู้ที่จะอ่านค่าอัลตราซาวด์ของปอด และสามารถทำการสแกนปอดด้วยเครื่องมือดังกล่าวได้ เพราะถือเป็นทักษะที่จำเป็น

การนำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาลรอยัลเบิร์กเชียร์และสถานบำบัดหรือคลินิกในท้องถิ่นที่ช่วยกันคัดกรอง ทำให้สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โรงพยาบาลรอยัลเบิร์กเชียร์จะยังคงใช้รูปแบบการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 โดยร่วมมือกับหน่วยบำบัดปฐมภูมิต่อไป นอกจากนี้ ในอีกไม่นานจะมี บัตเตอร์ฟลาย ไอคิว รุ่นใหม่ ซึ่งโรงพยาบาลในอังกฤษไม่เพียงแต่จะใช้มันในการตรวจคัดกรองโควิด-19 แต่ยังจะใช้มันในการรักษาโรคเฉพาะทางอื่น ๆ อีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน