คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

เจดีย์พระธาตุหลวง เวียงจันทน์ หรือ เจดีย์โลกะจุฬามณี มีศิลาจารึกของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชบันทึกว่า ทรงสร้างครอบพระธาตุน้อยองค์หนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่ามีมาก่อนประมาณ พุทธศตวรรษที่ 11-12

ความแตกต่างของเจดีย์เหลี่ยมกับเจดีย์ทรงลังกาก็คือ รูปทรงของเจดีย์เหลี่ยมที่มาจากจินตนาการของจักรวาลทัศน์ที่มองโลกมีสัณฐานเป็น 4 เหลี่ยม

ตัวองค์เจดีย์ในที่นี้เป็นรูปสี่เหลี่ยม เรียกว่า องค์พระธาตุ มีความหมายเช่นเดียวกับ องค์ระฆังในเจดีย์ทั่วไป ที่หมายถึง รูปภพ หรือ โลก หรือ ตัวตน หรือ มนุษย์ภูมิ อันตั้งอยู่บนฐานของ กิเลสทั้งสาม

ได้แก่ โลภะ ที่หมายถึง จิตที่ผูกพัน ร้อยรัด ข้องติดอยู่กับ อารัมณวัตถุ (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์) หรือ โทสะ คือ ความข้องขัด ผลักใสของจิต ต่ออารัมณวัตถุ และ โมหะ คือ ความไม่รู้ ไม่มีสติ สัมปชัญญะ

เหนือองค์พระธาตุยังเป็นกามภพที่เป็นสวรรค์ แต่มีฐานเป็นดอกบัว อันเป็นชั้นของจิตที่จะเริ่มพัฒนาสูงขึ้นไป

รอยต่อของกามภพกับรูปภพเรียกว่า เอวชั้น ที่เห็นเป็นชั้น ตัวรูปภพก็คือชั้นของผู้ที่พัฒนาจิต ที่ได้ฌานเรียกว่า รูปภพหรือพรหม 16 ชั้น เลยขึ้นไปเป็นปล้องชั้นทรงกลม หมายถึงชั้นของอรูปภพหรืออรูปพรหมทั้ง 4

สูงสุดคือ สภาวะของจิตที่พ้นไปจากสังสาร วัฏ (การเกิดดับ) นั่นคือ นิพพาน

ในส่วนของฐานชั้นที่ 1 ที่ต่อจากองค์ พระธาตุ ประกอบด้วย เจดีย์เล็กๆ 30 เจดีย์ เรียกว่า สมติงสบารมี หรือ ตรีทศบารมี ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่ผู้ประสงค์จะบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าจะต้องปฏิบัติ ตั้งแต่บารมีขั้นต้น ที่เรียกว่า บารมีทั้ง 10 อันได้แก่

ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และ อุเบกขาบารมี

ซึ่งต้องกระทำในลำดับ 3 ขั้นคือ ระดับบารมี ที่กล่าวข้างต้น ไปสู่ลำดับอุปบารมี ที่หมายถึงการปฏิบัติที่ไม่คำนึงถึงอวัยวะร่างกาย และในระดับสุดท้ายก็คือ ปรมัตถ์บารมี ที่จะต้องบำเพ็ญโดยไม่คำนึงถึงชีวิต

เช่น ในอธิษฐานบารมีก่อนบรรลุ พระอรหันต์ที่พระสิทธัตถะอธิษฐานว่า แม้ร่างกายเลือดเนื้อและชีวิตจะแห้งเหือดไปก็จะไม่ลุกจากบัลลังก์นี้จนกว่าจะบรรลุ อนุตระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน