ใครที่ติดตามการ์ตูนหรือ “อนิเมะ” ญี่ปุ่นก็คงคุ้นเคยกับภาพชุดนักเรียนน่ารัก หลายรูปแบบของสาวๆ วันนี้ทีม ข่าวสด จะมาย้อนความเป็นมาของเครื่องแบบนักเรียนของประเทศญี่ปุ่นกัน

เครื่องแบบนักเรียนยุคแรกของประเทศญี่ปุ่นมีชื่อว่า “กักคุรัน” มาพร้อมกับการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นในปี 1868 ที่ทางการได้จัดตั้งสถาบันการศึกษาให้เฉพาะกลุ่มเชื้อราชวงศ์และชนชั้นสูงเท่านั้น ซึ่งในสมัยนั้นสังคมตะวันตกจะให้ความสำคัญกับเครื่องแบบมาก เนื่องจากเป็นการบอกอาชีพและสังกัดทางสังคม

เครื่องแบบ “กักคุรัน”

โดยเครื่องแบบ “กักคุรัน” จะเป็นชุดนักเรียนแขนยาวสีดำ กับกางเกงขายาวสีดำ พร้อมด้วยหมวกปีกทรงเหลี่ยม หรือกลมที่มีตราของโรงเรียนติดอยู่ ซึ่งเป็นเครื่องแบบของนักเรียนชายก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงนี้เอง

เครื่องแบบ “กักคุรัน”

“กักคุรัน” เป็นเครื่องแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจากเครื่องแบบทหารซึ่งเมื่อเทียบกับปัจจุบันแล้วชุดนักเรียนชายนั้นไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก ในทางกลับกันชุดนักเรียนผู้หญิงกลับมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งปัจจัยนั้นขึ้นอยู่กับความชอบของผู้สวมใส่

ชุดฮากามะ

จุดเริ่มต้นของชุดนักเรียนหญิงในญี่ปุ่น โรงเรียนสตรีโตเกียว (東京女学校) เป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกจัดตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1872 โดยนักเรียนหญิงในสมัยนั้นต้องสวมชุดเครื่องแบบผู้ชายฮากามะ แต่ก็ต้องถูกสังคมวิจารณ์อย่างหนักทำให้ทางกระทรวงศึกษาธิการต้องทำการออกแบบชุดฮากามะแบบผู้หญิง โดยการเปลี่ยนกางเกงเป็นกิโมโน และเปลี่ยนรองเท้าแบบญี่ปุ่นมาเป็นรองเท้าหนัง ซึ่งในปัจจุบันชุดฮากามะยังถูกนำมาใส่อยู่ในพิธีจบการศึกษา

ปีค.ศ. 1916 การเปลี่ยนแปลงของเครื่องแบบนักเรียนเมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่สภาวะสงคราม มีเหตุจำเป็นให้ทางการต้องประกาศหยุดการผลิตและจำหน่ายสิ่งทอจึงกลายมาเป็นชุดกะลาสีที่เราคุ้นตา เนื่องจากชุดกะลาสีนั้นตัดเย็บได้ง่าย ถือว่าเป็นเครื่องแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาติตะวันตก เป็นการออกแบบของ ฟุซาโกะ ยามาวาคิ (山脇房子) ครูใหญ่ของโรงเรียนมัธยมสตรียามาวาคิ (山脇高等女学校)

 

ซึ่งเครื่องแบบนักเรียนนั้นได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเหล่าเด็กสาวที่ได้รับการศึกษาเป็นที่เรียบร้อย เด็กสาวในยุคนี้จะรู้สึกว่าการใส่ชุดนักเรียนนั้นเป็นเรื่องที่ภาคภูมิใจ และเป็นสิ่งที่มีโอกาสแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ด้วยความภาคภูมิใจนี้จึงทำให้ชุดนักเรียนญี่ปุ่นถูกรวมกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างไม่น่าสงสัย

ค.ศ. 1970 จุดเริ่มต้นของแฟชั่นแยงกี้ หรือ ซุเคะบัน ถ้าใครอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นก็คงคุ้นเคยกับชุดนักเรียนแบบนี้มาบ้าง เป็นเครื่องแบบนักเรียนกระโปรงยาว พับแขนเสื้อ หรือบางทีก็ใส่เสื้อคลุมยาว และผ้าคาดศีรษะเอาไว้

เครื่องแบบซุเคะบันนั้นถูกนิยมใส่กันในหมู่นักเลงญี่ปุ่น โดยนำเสนอความคิดที่หลากหลายประท้วงการใส่ชุดนักเรียนกะลาสี เป็นการแสดงออกว่าต้องการจะแหกกฏ และเหตุผลที่พวกเธอใส่กระโปรงยาวนั้นก็เพราะพวกเธอจะได้ซ่อนอายุได้ง่ายขึ้นนั้นเอง

พอก้าวเข้าสู่ยุค 80 โรงเรียนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เริ่มหันมาเปลี่ยนรูปแบบชุดนักเรียนให้ดึงดูด และเป็นเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น โดยโรงเรียนวิทยาลัยสตรีโชเอ (頌栄女子学院) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตมินาโตะของโตเกียว เป็นโรงเรียนแรกที่นำเครื่องแบบเสื้อเบลเซอร์ซึ่งปักตราของโรงเรียนไว้ คู่กับกระโปรงลายสก็อตยาวประมาณเข่า และถุงเท้าทรงสูงเข้ามาใช้

ยุค 90 ชุดนักเรียนญี่ปุ่นนั้นกลายเป็นแฟชั่นที่มีชื่อเรียกว่า “โคแกล” ซึ่งมาจากคำว่าโคโคเซ (นักเรียน.ม.ปลาย ) + Gal ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าชุดนักเรียนญี่ปุ่นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นิตยสารวัยรุ่นสมัยนั้นจึงมีแต่สาวๆใส่ชุดนักเรียนขึ้นปกกันเป็นว่าเล่นเลย

สรุปได้ว่าเครื่องแบบนักเรียนในประเทศญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่เพียงเครื่องแบบอีกต่อไป แต่เป็นเหมือนแฟชั่นอย่างหนึ่งที่ถูกเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในยุคปัจจุบันนี้โรงเรียนประถมส่วนใหญ่ จะไม่มีเครื่องแบบนักเรียนให้ใส่ ยกเว้นก็เพียงโรงเรียนเอกชนบางแห่งเท่านั้น โดยส่วนใหญ่โรงเรียนประถมก็จะให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทได้ตามที่สะดวก และเครื่องแบบนักเรียนชั้นมัธยมก็มีหลายสไตล์มากขึ้น

อาทิเช่น ชุดเบลเซอร์ (Blazer) ถูกเอามาใช้ทดแทนชุดกักคุรันในโรงเรียนหลายแห่ง เสื้อด้านในก็ไม่จำเป็นต้องใส่เป็นเสื้อเชิ้ตเสมอไป และโรงเรียนมัธยมในญี่ปุ่นบางแห่งเริ่มเปิดให้นักเรียนใส่เครื่องแบบได้ตามแต่สะดวกไม่ต้องสอดคล้องกับเพศสภาพของตัวเองได้แล้วอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา becommon

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน