แมวสำคัญของโลก – “น้องแมวติดโควิด 19 ได้ไหม ติดคนได้หรือเปล่า”

เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา คนไทยเราได้รู้จักชื่อโรคไวรัสอู่ฮั่น ซึ่งมีที่มาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ต่อมาWHO ได้เปลี่ยนมาเรียกแบบจะระบุเฉพาะเจาะจงลงไปอีกว่า โควิด 19 ย่อมาจาก coronavirus disease starting in 2019

โดยปกติแล้ว ไวรัสโคโรนา สามารถพบได้ในสัตว์และในมนุษย์ ชื่อ Corona มาจากรูปร่างของไวรัสมีหนามแหลมรอบตัวคล้ายกับมงกุฎ โดยมีหลายสายพันธุ์ มีทั้งที่สามารถก่อโรคในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว กระต่าย หรือในปศุสัตว์ นอกจากนี้ยังพบในสัตว์ป่า มีทั้งก่อโรคและไม่ก่อโรค เช่น ค้างคาว งู และแรคคูน ซึ่งสัตว์แต่ละชนิดก็มีไวรัสเป็นสายพันธุ์ของตัวเอง ไม่สามารถส่งผ่านไวรัสสู่สัตว์ต่างชนิดกันได้

เชื้อไวรัสโคโรนาบางสายพันธุ์(จำนวนน้อยมาก) สามารถส่งต่อโรคมาถึงมนุษย์ได้ (Zoonotic) เช่น เชื้อไวรัสโคโรนาจากค้างคาว ทำให้เกิดโรค SARS และเชื้อไวรัสโคโรนาจากอูฐ เป็นสาเหตุโรค MERS ส่วนเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีการตรวจพบว่าเชื้อมีความคล้ายคลึงกับเชื้อโคโรนาในโรค SARS จากค้างคาว มากถึง 85 %

ไวรัสโคโรนาในแมว(ที่ไม่ใช่โควิด 19)มีมานานแล้ว มีชื่อว่า Feline coronavirus หรือ FCoV เป็นไวรัสที่ติดต่อระหว่างแมว ติดกันได้ง่ายในสภาพแวดล้อมที่แมวอยู่กันอย่างแออัด ใช้กระบะทรายแมวร่วมกัน หรือตัวที่ป่วยและไม่ป่วยอยู่ปะปนกัน ไม่มีการแยกพื้นที่ การแพร่เชื้อมักเกิดจากการกินน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อไวรัสปนอยู่ ส่วนช่วงอายุที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสได้ง่ายคือแมวอายุน้อยกว่า 2 ปี และ แมวแก่อายุมากกว่า 17 ปี เพราะ เป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนแมวโตเต็มวัยที่ร่างกายแข็งแรงปกติ

อาการโดยรวมคือ น้องแมวจะมีอาการ มีไข้ ซึม ไม่กินอาหาร น้ำหนักตัวลด ผอม หายใจลำบาก ท้องบวมน้ำ เป็นต้น

การรักษาเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการเท่านั้น มีการให้ออกซิเจน เจาะน้ำในช่องอกช่องท้อง ใส่ท่อช่วยหายใจตามความจำเป็น เพื่อให้แมวมีชีวิตอยู่ให้นานขึ้นส่วนใหญ่แมวที่เป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Feline infectious peritonitis) มักจะเสียชีวิตในที่สุด

เชื้อไวรัสโคโรนาในแมวนี้ แม้จะฟังดูเป็นอันตรายต่อแมวจนถึงขั้นเสียชีวิตได้แต่ไม่สามารถส่งต่อหรือมีการติดเชื้อจากแมวมาสู่คนได้ จึงไม่น่าวิตก

ส่วนเชื้อโควิด 19 ที่มีข่าวว่ามีน้องหมา หรือแมวที่เลี้ยง ติดเชื้อนั้น เป็นการติดเชื้อจากคนสู่สัตว์ คือเจ้าของที่เลี้ยงนำเชื้อไปติดแมวนั่นเอง และน้องแมวเองก็ไม่สามารถเอาเชื้อในตัวเองไปติดคืนสู่คนอื่นๆได้อยู่ดี

ดังนั้นแทนที่จะกลัวคนรับโรคจากสัตว์ กลายเป็นว่า คนกลับต้องระมัดระวังตัวเวลาจะสัมผัสหรือดูแลสัตว์ โดยเฉพาะในปศุสัตว์ เนื่องจากว่าโรคนี้เป็นโรคใหม่ที่เรายังไม่มีความรู้เกี่ยวกับมันดีมากนัก โดยต้องมีการสวมถุงมือ ล้างทำความสะอาดร่างกายตนเองให้เรียบร้อยก่อนเข้าไปทำงานในคอก

ในขณะนี้ยังไม่มีรายงานการติดจากสัตว์สู่คน พวกเราจึงยังไม่ควรตื่นตระหนกจนพากันเอาหมาแมวไปปล่อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรจะระมัดระวังป้องกันการติดเชื้อให้ดีที่สุด โดยเฉพาะน้องแมวที่ติดเชื้อโควิด 19 มีการตรวจพบเชื้อในอาเจียน และอุจจาระ ซึ่งอาจจะทำให้เชื้อแพร่ไปสู่แมวตัวอื่นเกิดขึ้นได้ง่าย

ข้อแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโควิด 19 ในผู้ที่เลี้ยงแมว

กรณีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด 19

1. นอกจากจะต้องกักตัวและรักษาระยะห่าง งดการติดต่อกับผู้คนอื่นๆแล้ว ผู้ป่วยควรจำกัดและลดการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงและสัตว์อื่นจนกว่าจะหาย กรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ได้ ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ ทั้งก่อนและหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยงและผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัยขณะสัมผัสสัตว์เลี้ยง

2. หากสัตว์เลี้ยงเคยสัมผัสผู้ป่วยโควิด 19 ผู้ที่จะต้องดูแลต่อต้องเช็ดตัวทำความสะอาดแมว และสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ก่อนและหลังสัมผัสแมวก่อนนำมาดูแลตามปกติ

3. หากจำเป็นต้องพาแมวที่เคยสัมผัสผู้ป่วยโควิดไปพบสัตวแพทย์ให้แจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่การแพทย์ด้วยทุกครั้ง เพื่อประโยชน์ในวินิจฉัยและวางแผนการรักษา รวมถึงเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้มีโอกาสเตรียมตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อด้วย

4. งดการใกล้ชิด สัมผัสกับน้องแมวนอกบ้าน โดยเฉพาะถ้าเราเลี้ยงแมวไว้ในบ้าน เพราะตัวเราเองอาจกลายเป็นพาหะพาโรคติดต่ออื่นๆที่เป็นอันตรายกลับบ้านมาสู่แมวของเราได้ นอกจากโควิด 19 ก็ยังมี ไข้หัดแมว ไข้หวัดแมว เอดส์แมว และโรคพยาธิต่างๆ

5. จัดการทำความสะอาดที่อยู่อาศัยของทั้งคนและสัตว์ให้สะอาดเรียบร้อยและปลอดเชื้อเสมอ รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ที่ต้องสัมผัสด้วย

ขึ้นหนึ่งค่ำ

ที่มาภาพ : pixabay
ที่มาข้อมูล http://www.vetcoucil.or.th และอื่นๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน