ไซตามะออกกฎ ห้ามเดินบนบันไดเลื่อน เพื่อเอื้ออำนวยแก่สังคมผู้สูงอายุ ย้ำ มุ่งหวังว่าคนจะเปลี่ยนมารยาทการใช้บันไดเลื่อนด้วยความเห็นใจคนอื่น มิใช่เพราะกฎ

SoraNews24

โดยปกติแล้ว มารยาทการขึ้นบันไดเลื่อนในจังหวัดไซตามะ กำหนดให้ทุกคนที่ขึ้นบันไดเลื่อน ยืนทางซ้าย และเดินทางด้านขวา แต่ มาซาฮิโระ คาวาเซะ เป็นพนักงานออฟฟิศวัย 48 ปี ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และเป็นอัมพาตที่ด้านซ้าย ดังนั้นเมื่อเขาขึ้นบันไดเลื่อน เขาต้องจับราวจับด้านขวาให้มั่นคง และค่อย ๆ ขยับตัวไปทางขวา และถ้าหากเขาขยับช้าไป คนอื่นอาจผลักเขาหรือตะโกนใส่เขาเพื่อให้เขาออกไปพ้นทาง

ทว่านับจากนี้ คาวาเซะ และคนอื่น ๆ ที่ป่วยเป็นโรคที่ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก อาจรู้สึกวางใจกับ กฎระเบียบใหม่ของไซตามะ ในวันที่ 26 มี.ค.64 ทางการไซตามะ ออกกฎให้ทุกคนที่ขึ้นบันไดเลื่อน ห้ามเดินหรือวิ่ง ขณะที่ขึ้นบันไดเลื่อน โดยกฎนี้ จะมีผลบังคับใช้ ในเดือนตุลาคม64 ทั้งยังกำหนดให้สถานที่ที่มีบันไดเลื่อน ต้องติดป้าย งดเดินหรือวิ่งบนบันไดเลื่อน

SoraNews24

ไซตามะได้พิจารณาใช้กฎนี้ เนื่องจาก เล็งเห็นถึงการใช้บันไดเลื่อนของผู้ป่วยที่มีโรคที่ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก รวมถึงต้องการ ช่วยลดกรณีการบาดเจ็บจากการใช้บันไดเลื่อน ซึ่งในญี่ปุ่นมี อุบัติเหตุจากบันไดเลื่อนเกิดขึ้นประมาณ 775 รายต่อปี ซึ่งอุบัติเหตุมากกว่าครึ่ง เกิดจากการเดินบนบันไดเลื่อน และไม่จับราวจับ

สำนักข่าว NHK ได้พูดคุยกับศาสตราจารย์กิตติคุณ มาซาคาสุ โทกิ จากมหาวิทยาลัยเอโดงาวะ ซึ่งอธิบายว่า ในช่วงฟื้นฟูประเทศ ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับคนที่มีประสิทธิภาพในการทำงานเหนือคนที่อ่อนแอกว่า เพื่อเร่งพัฒนาประเทศ ทำให้วิถีปฏิบัติในปัจจุบัน คนมักไม่ค่อยเห็นอกเห็นใจคนที่อ่อนแอกว่า จึงต้องกำหนดพฤติกรรมผ่านกฎหมายแทน

SoraNews24

หลังจากข่าวนี้ได้ถูกเผยแพร่ลงในโซเชียลมีเดีย ก็มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยทั่วไปชาวเน็ตญี่ปุ่นก็สนับสนุนการไม่เดินบนบันไดเลื่อน แต่ก็ยังมีบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎนี้ เช่น

“ครั้งต่อไป ถ้าฉันเห็นคนยืนขวางบันไดเลื่อน ฉันจะรู้ทันทีว่าเขามาจากไซตามะ”, “ผมคิดว่าปัญหาอุบัติเหตุจากบันไดเลื่อน จะไม่ได้รับการแก้ไขจนกว่ากฎจะครอบคลุมทั่วประเทศ”, “ฉันกังวลตลอดเวลาพาลูกขึ้นบันไดเลื่อนแล้วมีคนวิ่งมาชน”, “ผมยอมรับว่าผมก็วิ่งขึ้นบันไดเลื่อนในบางครั้ง แต่ผมก็ยังคิดว่านี่เป็นความคิดที่ดี ถ้าคุณอยากวิ่ง ก็ไปวิ่งบนบันไดก็ได้”

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงวัย 1 ใน 4 ของคนญี่ปุ่น มีอายุมากกว่า 70 ปี เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคที่ประชากรส่วนมาก เป็นผู้สูงอายุ มารยาทการใช้บันไดเลื่อนก็ควรจะเอื้ออำนวยแก่ผู้สูงอายุโดยธรรมชาติแบบที่ไม่ต้องมีกฎมาบังคับ

ขอบคุณข้อมูล SoraNews24

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน