สุดฮา! เด็กน้อย ต้องเขียน’เรียงความชีวิต’ เลยบรรยายดราม่า ไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร ไปจนหมดกระดาษสมุด แต่สร้างสรรค์สุด ๆ ครูถึงกับชมและให้คะแนนยอดเยี่ยม

SoraNews24

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวญี่ปุ่น @gude_chichi เล่าว่า ตนเองมีลูกสาวอายุ 7 ปี เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และวันหนึ่ง ครูได้มอบหมายการบ้านให้นักเรียน เขียนเรียงความ เกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวล่าสุดของตนเอง

เด็ก ๆ จึงเริ่มเขียน ยกเว้นลูกสาวของ @gude_chichi ที่เกิดภาวะเขียนไม่ออกบอกไม่ถูก จนตั้งชื่อเรียงความว่า “ฉันควรทำอย่างไร?” ถึงแม้ว่าเด็กน้อยจะไม่แน่ใจว่าจะควรเขียนไปอย่างไรดี แต่เด็กน้อย ก็ปล่อยให้ความปั่นป่วนไหลจากปลายปากกาลงสู่กระดาษ โดยเขียนไปว่า

Pixta

“วันนี้ที่โรงเรียนเรา กำลังทำงานเขียนเรียงความ แต่ฉันคิดไม่ออก ว่าจะเขียนอะไรดี และไม่รู้จะทำอย่างไร คนอื่น ๆ กำลังเขียน แต่ฉันกลับเขียนไม่ได้ คุณครูได้โปรดช่วยฉันที ฉันเหมือนคนไม่มีโชคเลย ฉันควรทำอย่างไรดีนะ ฉันสงสัยว่า มีใครอีกบ้างในชั้นเรียน ที่ยังเขียนไม่ได้เหมือนฉัน

สมองของฉันแทบคิดอะไรไม่ได้เลย แต่มันกลับปวดหัวขึ้นมาเสียอย่างนั้น มันเป็นไปได้อย่างไร คาบใกล้จะหมดลงแล้ว ฉันไม่อยากใช้เวลาพักมานั่งเขียนเลย ฉันควรทำอย่างไรดี ฉันไม่อยากต้องเขียนเรียงความต่อ ฉันควรทำอย่างไร ตอนนี้ เหลือเพียงห้านาที โอ้ เดี๋ยวก่อน! ฉันสามารถเขียนเกี่ยวกับความรู้สึกนี้ สำหรับเรียงความของฉันได้ แต่กลัวว่าจะไม่มีเวลาเพียงพอ ฉันควรทำอย่างไรดี

Twitter

ครูพูดว่า ‘หมดเวลาแล้ว’ ฉันควรทำอย่างไรดี โอเค ฉันควรจะพูดตรง ๆ และบอกไปว่า ฉันคิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไรดี หรือบางทีฉันควรขอคำแนะนำจากเพื่อน ๆ บทความเป็นเรื่องยากจริง ๆ สินะ และเพื่อนของฉันบอกฉันว่า ‘ถ้าไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรดี ก็ลองเขียนอะไรก็ได้ออกมาสิ'”

ทั้งนี้ @gude_chichi บอกว่า จริง ๆ แล้ว ลูกสาวของตนเองชอบเขียนงานและก็ทำได้ดีมาตลอด อย่างไรก็ตาม การเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิต ไม่ใช่เรื่องโปรดของลูกสาว ดังนั้นสำหรับบทความนี้ เด็กน้อยจึงตัดสินใจที่จะผสมผสานความสร้างสรรค์ จินตนาการ และความรู้สึกที่แท้จริง เข้าไว้ด้วยกัน

Twitter

ขณะที่ครูที่ได้อ่านบทความ ได้วาดรูปดอกไม้ลงไป ซึ่งครูนิยมวาดในโรงเรียนประถมของญี่ปุ่น เพื่อแสดงความชื่นชม ซึ่งแปลว่า ‘ทำได้ดีมาก!’ และยังมีตราประทับว่า ‘ทำได้ดีมาก!’ ซ้ำอีกครั้ง ครูยังชมเชย การเลือกใช้คำและวลีของเธอ ว่าสามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีมาก

ชาวเน็ตญี่ปุ่นต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นในเชิงเอ็นดูเด็กน้อยคนนี้อย่างท่วมท้น เช่น “เจ้าหนู ฉลาดมาก”, “บางทีก็เป็นเรื่องยากมาก ที่จะแสดงความรู้สึกของตนเอง ให้คนอื่นเห็นอย่างชัดเจน แต่หนูน้อยทำได้ดีมาก”, “เธอแสดงให้เห็นว่า การแสดงความเป็นตนเองออกมาผ่านการเขียนนั้นยอดเยี่ยมแค่ไหน”, “ฉันชอบคำแนะนำของเพื่อนเธอและครูของเธอ พวกเขาดูเป็นคนที่ยอดเยี่ยม”

สุดท้ายแล้ว หัวข้อมากมายที่เด็ก ๆ เขียนในโรงเรียนประถมนั้น แท้จริงแล้ว เป็นการช่วยให้เด็ก ๆ ได้เขียนความในใจออกมาอย่างสบายใจ และการเขียนจะช่วยระเบียบความคิดของเด็ก ๆ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาระดับชั้นปฐมวัยนั่นเอง

NF

ขอบคุณข้อมูล SoraNews24

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน