ชวนรู้จัก ภาวะเหนื่อยล้าทางอารมณ์ ไม่ใช่ภาวะหมดไฟ ภาวะซึมเศร้า หรือภาวะสิ้นยินดี ไม่ใช่โรคทางสุขภาพจิต แต่ไม่สนุก และ ไม่มีเป้าหมาย

The New York Times

ในยุคสมัยใหม่ สุขภาวะทางจิตเป็นสิ่งที่ สากลโลกพยายามให้ความสำคัญ เพราะสุขภาพจิตใจนั้นสำคัญไม่แพ้สุขภาพร่างกาย ทำให้ช่วงหลัง หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องเล่าจากคนใกล้ตัวหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้คนเกิดปัญหาทางสุขภาวะทางจิตมากขึ้น

หากพูดถึงภาวะหมดไฟ ภาวะซึมเศร้า หรือแม้แต่ภาวะสิ้นยินดี ซึ่งนับเป็นภาวะที่อาจนำไปสู่โรคนั้น หลายคนอาจจะเคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง แต่หลังจากการระบาดของโควิด-19 นักจิตวิทยาในสหรัฐอเมริกาพบว่า มีภาวะหนึ่งที่แตกต่างจากภาวะหมดไฟหรือซึมเศร้า ที่พบว่ามีผู้คนจำนวนมากเผชิญภาวะนี้อยู่โดยไม่รู้ตัวสูงขึ้น และถือเป็นภัยเงียบของสุขภาพจิตของยุคสมัย ซึ่งเรียกว่า “ภาวะเหนื่อยล้า”ทางอารมณ์ หรืออาจเรียกสั้น ๆ ว่า ภาวะเหนื่อยชีวิต (Languishing)

Pixhere

ขณะที่ ภาวะหมดไฟ หมายถึง อาการเครียดเรื้อรังจากที่ทำงาน ที่สะสมจนเกิดความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ และมีปัจจัยต่าง ๆ ในที่ทำงานที่ไม่ตรงกับความคาดหวัง และ ภาวะซึมเศร้า ที่มีอาการรู้สึกสิ้นหวัง ไม่สนุกในสิ่งที่เคยสนุก รู้สึกซึมเศร้าและวิตกกังวล รวมถึงภาวะสิ้นยินดี จะมีอาการไม่ยินดียินร้าย ขาดอารมณ์ร่วมทั้งอารมณ์สุขและเศร้า

แต่ภาวะเหนื่อยชีวิตนั้น แตกต่างออกไป อดัม แกรนท์ นักจิตวิทยาอเมริกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาองค์การ ที่วาร์ตันสคูลแห่ง มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้เปิดเผยว่า ภาวะเหนื่อยชีวิต อาจเรียกได้ว่า เป็นภาวะทางจิตใจแห่งปี 2564 ที่น่ากังวลไม่แพ้โรคระบาดเลยทีเดียว และภาวะเหนื่อยชีวิต ไม่ใช่ภาวะหมดไฟ เพราะผู้ที่เกิดภาวะนี้ยังมีพลังในการทำสิ่งต่าง ๆ และไม่ใช่ภาวะซึมเศร้า เพราะผู้ที่เกิดภาวะนี้ ไม่ได้รู้สึกสิ้นหวัง แต่จะมีอาการไม่สนุกและไม่มีเป้าหมาย

Adam Grant

ภาวะเหนื่อยชีวิต เป็นความรู้สึกเหนื่อยล้าและว่างเปล่า รู้สึกเหมือนว่าชีวิตกำลังยุ่งเหยิงตลอดทั้งวันและเมื่อมองไปข้างหน้าก็เห็นแต่หมอกมัว ภาวะเหล่านี้ ถูกสังเกตเห็นได้จากในหมู่นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ที่ทำงานอย่างหนักเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินระยะเวลายาวนาน ทำให้หลายคนไม่ทันได้เตรียมตัวหรือหยุดพักในการตั้งรับทางอารมณ์ ทั้งยังต้องเผชิญกับการสูญเสียบุคคลใกล้ชิดจากโรคระบาด

อดัม แกรนท์ ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงต้นของการระบาดโควิด-19 สมองของมนุษย์ในส่วน อมิกดาลา ซึ่งเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลและความกลัว จะมีการตื่นตัว เพื่อตั้งรับกับภัยที่อาจคุกคามชีวิต แต่เมื่อเราเผชิญกับภัยคุกคามบ่อย ๆ จนกิจกรรมเหล่านี้พัฒนากลายเป็นกิจวัตร จึงทำให้เกิดภาวะเหนื่อยล้าเรื้อรังทางอารมณ์

Pixhere

ในทางจิตวิทยา เราอาจมองภาวะซึมเศร้าในลักษณะเป็นขั้วตรงกันข้ามกับความเฟื่องฟูทางอารมณ์ ในขณะที่ภาวะเหนื่อยล้าทางอารมณ์ ถือเป็นจุดตรงกลาง ที่ถูกมองข้าม เนื่องจาก ผู้ที่มีภาวะนี้ จะไม่มีอาการทางสุขภาพจิต แต่ก็ไม่สามารถไปถึงจุดที่เฟื่องฟูทางอารมณ์ได้เช่นกัน

ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ทำให้แรงจูงใจตกต่ำ และขัดขวางความสามารถในมีสมาธิกับสิ่งต่าง ๆ อาการเหล่านี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป มากกว่าภาวะซึมเศร้าที่มักจะถูกพูดถึง แต่ภาวะเหล่านี้สามารถนำไปสู่โรคทางสุขภาพจิตได้เช่นกัน

The Keegan

แม้ว่าในขณะนี้ นักจิตวิทยาจะยังไม่ทราบถึงต้นตอของ ภาวะเหนื่อยล้าทางอารมณ์ได้อย่างแน่ชัด และยังไม่มีวิธีการรักษาที่ชัดเจน แต่ในขั่นต่ำสุด นักจิตวิทยาเสนอว่า ผู้ที่รู้สึกเหนื่อยล้าในชีวิต ควรยอมรับถึงความรู้สึกเหนื่อยล้า สื่อสารความรู้สึกของตนเองออกไป โดยไม่จำเป็นต้องพยายามมองโลกในแง่ดี เพราะอาจทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่กว่าเดิม มองว่าการพูดคุยเรื่องอารมณ์เหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เมื่อได้แบ่งปันความรู้สึกกับคนอื่น ๆ จะช่วยย้ำเตือนว่า มันเป็นเรื่องปกติ ที่เราจะรู้สึกเหนื่อย และเราไม่ได้ต่อสู้อย่างเหนื่อยล้าอยู่เพียงคนเดียว

Ingle international

ขอบคุณข้อมูล The New York Times

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน