องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย อบต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส, อบต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล และ อบต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ร่วมเสวนาออนไลน์ “ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว สู้ภัยโควิด-19” โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ เน้นย้ำให้ใช้มาตรการเข้มทุกพื้นที่เพื่อให้ชุมชนปลอดภัย

ในการเสวนาออนไลน์ครั้งนี้ พบว่ามีเรื่องที่น่าชื่นชม ทั้งตัวชุมชนเอง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ถึงความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ช่วงที่มีการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี โดยส่วนหนึ่งได้ใช้มาตรการอย่างเข้มงวด คนที่ลักลอบมาทางธรรมชาติ เจอ-จับ-ส่งตัว ดำเนินตามขั้นตอน หรือหากพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพียงหนึ่งคน ต้องปิดตำบลทันที จึงส่งผลให้พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ค่อนข้างน้อย หรือไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างที่ตำบลละงู อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งมีประชากรมากกว่า 6,000 คน แต่ที่ผ่านมาไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้แต่คนเดียว นั่นเป็นเพราะความร่วมมือของทุกภาคส่วนในพื้นที่

นายจำรัส ฮ่องสาย” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงู อ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่า แม้ในพื้นที่ อบต.ละงู ไม่มีผู้ป่วยเลยตั้งแต่เริ่มระบาดเมื่อต้นปี 2563 แต่มีมาตรการป้องกันการระบาดอย่างเป็นระบบ โดยมี 4 องค์กรหลักเข้ามาร่วมกันทำงาน (นายก อบต.ละงู เป็นประธาน มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. รพ.สต.) มีการตั้งศูนย์โควิด-19 ประจำตำบล มีการประชาสัมพันธ์และแจ้งให้ทราบถึงมาตรการต่างๆ ในการปฏิบัติตัว ซึ่งได้ขอความร่วมมือกับโต๊ะอิหม่าม หรือผู้นำศาสนา เป็นผู้ให้ความรู้และสื่อสารกับพี่น้องมุสลิมที่มาปฏิบัติศาสนกิจที่มัสยิด ทั้ง 22 แห่ง อีกทั้งยังได้กำชับกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ให้รายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้าน โดยผู้ใหญ่บ้านจะแจ้งให้ อสม. เข้าไปตรวจวัดไข้ และติดตามการกักตัว

ขณะที่ อบต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งอยู่ติดกับประเทศมาเลเซีย มีประชาชนผ่านเข้า-ออกเป็นประจำ และมีผู้ติดเชื้อเข้ามายังพื้นที่หลายราย ได้มีสถานที่สำหรับกักตัว จากเดิม 2 แห่ง ลดเหลือ 1 แห่ง คือศาลาในพื้นที่หมู่ 5 ในขณะนี้ได้มีกลุ่มเสี่ยงมากักตัวอยู่ 30 คน เต็มอัตราที่รับได้แล้ว ด้าน “นายซูลกีฟรี เจ๊ะมามะ” นายกอบต.โละจูด ได้เผยแนวทางรับมือว่า ถ้ามีคนป่วยหนึ่งคน คนในพื้นที่ก็จะเดือดร้อนหลายคน ดังนั้นก่อนที่จะมีศูนย์กักกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับความเข้าใจกับชุมชนก่อนว่า ชุมชนต้องการหรือไม่ และให้ผู้นำไปคุยกับโต๊ะอิหม่ามให้เข้าใจ

“ว่าเราไม่ได้เอาคนที่ติดโรคมา แต่เป็นการป้องคนในพื้นที่ ตอนนี้ก็มีคนจากหลายพื้นที่ มีมาจากมาเลเซียบ้าง เราให้จับและตรวจที่หน้าด่านเลย และศูนย์กักกันนี้ก็จะรับเฉพาะผู้หญิง ซึ่งถูกส่งมาจากสุไหงโกลก โดยมีอำเภอเป็นผู้ดูแลศูนย์ ส่วนคนที่เข้ามาทางช่องทางธรรมชาติหรือช่องทางไม่ปกติ ถ้าจับได้ก็จะถูกส่งตัวไปที่สุไหงโกลก เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป”

เช่นเดียวกับ ตำบลสะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ที่มีแผนรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในลักษณะเดียวกัน แม้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่จะยังไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 แต่ก็มีกลุ่มเสี่ยงเข้ามากักตัวในตำบลซึ่งรองรับได้ประมาณ 30 คน และส่วนมากเป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซีย

นายอาซัน สือนิล” นายกอบต.สะเอะ ได้ให้แนวทางป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่ว่า แม้ตำบลสะเอะจะไม่มีชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ก็ต้องมีการเฝ้าระวังตลอดเวลา โดยหากพบคนแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่ต้องรีบแจ้งให้ทางการทราบในทันที นอกจากนี้ให้เน้นสร้างความเข้าใจ โดยใช้วิธีการขอความร่วมมือแทนการบังคับ สร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น ถ้าติดคนหนึ่ง ก็จะสร้างความลำบากทั้งหมู่บ้าน ปิดหมู่บ้าน มีการเดินทางลำบาก การทำมาหากินก็จะลำบาก โดยเฉพาช่วงรอมฎอน ได้ขอความร่วมมือกับโต๊ะอิหม่าม เพื่อให้งดการเลี้ยงสังสรรค์หลังพิธีละศีลอด เป็นต้น

เหล่านี้เห็นชัดว่า กุญแจความสำเร็จคือ “การให้ความร่วมมือของทุกคน การตระหนักถึงผลกระทบจากโควิด-19 การสร้างความเข้าใจกับโต๊ะอิหม่าม การชี้ให้เห็นว่า หากมีผู้ติดเชื้อเพียงหนึ่งคน ก็ต้องปิดมัสยิด ปิดทั้งตำบล ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง จึงกลายเป็นวิถีของชุมชน และที่สำคัญคือ เราเน้นขอความร่วมมือ จะไม่ใช้การบังคับ” นายกอบต.สะเอะ กล่าวในตอนท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน