เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัวทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จัดเสวนาออนไลน์ “ดูแลคน-ดูแลครอบครัว ในวิกฤตโควิด-19” เป็นเวทีให้ผู้ประกอบการสามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเข้าใจ ร่วมแบ่งปันมาตรการดูแลและช่วยเหลือพนักงานในองค์กรให้ห่างไกลจากโควิด-19

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. เผยว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นนั้น ถือเป็นรอบที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าทุกรอบที่ผ่านมา อีกทั้งยังส่งผลกระทบกับประชาชน และผู้ประกอบการในหลายภาคส่วนอีกเช่นเคย

“สสส. จัดงานเสวนาออนไลน์ฯ นี้ขึ้นผ่านระบบ Zoom เพื่อให้ผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจาดโควิด-19 ระลอก 3 ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวคิดการบริหารจัดการสถานประกอบการช่วงโควิด-19 รวมถึงมาตรการป้องกันของแต่ละสถานประกอบการ ตลอดจนแนวทางการช่วยเหลือพนักงานขององค์กรในทุกมิติ”

การเสวนาออนไลน์ฯ ครั้งนี้ มีตัวแทนจากสถานประกอบการจากหลายภาคส่วนมาร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการองค์กรในช่วงโควิดระลอก 3 ทั้งสถานประกอบการรายใหญ่และรายย่อย ไปจนถึงหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน), สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, บริษัท เอ็น.ยู.ซี.อินเตอร์แพค จำกัด, เซ็นทรัล กรุ๊ป, เบทาโกร กรุ๊ป, โรงแรมทวิน โลตัส, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ฯลฯ

สาระสำคัญของการเสวนาออนไลน์ฯ มุ่งเน้นไปที่ระบบการบริหารจัดการองค์กร อาทิ มาตรการ Work From Home จัดการช่องทางการสื่อสารข้อมูลแก่พนักงานผ่านหลากหลายช่องทาง เพื่อให้พนักงานรับทราบข้อมูลที่สดใหม่ได้รวดเร็วที่สุด เปลี่ยนรูปแบบการขายจากหน้าร้านเป็นแบบออนไลน์ รณรงค์ใช้การจ่ายเงินแบบ Cashless เพื่อเลี่ยงการสัมผัส ฯลฯ

โดยแต่ละองค์กรได้ร่วมแบ่งปันมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ปฏิบัติจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งให้พนักงานทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่อยู่ภายในบริษัทฯ หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่างระหว่างกัน รับประทานอาหารปรุงสุกแบบจานเดียว ฯลฯ อีกทั้งสื่อสารให้พนักงานเข้าใจถึง “การตระหนัก แต่ไม่ตระหนก” มีสติกับการใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ “New Normal”

นอกจากนี้ ยังร่วมแบ่งปันแนวทางการช่วยเหลือด้านสวัสดิการพนักงานของพนักงานขององค์กรในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น การทำประกันโควิด-19 ให้แก่พนักงานทุกคน มาตรการตรวจคัดกรองโควิด-19 แก่พนักงานแบบไม่มีค่าใช้จ่าย หรือหากมีพนักติดเชื้อโควิด-19 บริษัทฯ จะออกค่าใช้จ่ายระหว่างการักษาตัวที่โรงพยาบาลให้ทั้งหมด เป็นต้น

“ณ ตอนนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การร่วมมือกันของแต่ละภาคส่วนเพื่อแบ่งปันข้อมูลที่อาจจะเป็นแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจ เนื่องจากข้อมูลหรือมาตรการเยียวยาบางอย่างเป็นมาตรการที่น่าสนใจและหลายคนอาจจะยังนึกไม่ถึง เชื่อว่าหากเดินหน้าไปด้วยกันย่อมส่งผลดีต่อพนักงานและองค์กรในที่สุด” นางสาวณัฐยา กล่าวทิ้งท้าย


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน