ลงพื้นที่กับ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กระทรวงพาณิชย์ ในโครงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อสร้างความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี และภารกิจของกรมฯ ระหว่าง 19-21 พ.ย.64 ถือเป็นความโชคดีที่ตรงกับช่วงเทศกาลลอยกระทงที่จัดวันที่ 18-20 พ.ย. ทำให้ได้มีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศของประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ วิถีใหม่ จ.สุโขทัย ในวันที่ 19 พ.ย. โดยทริปนี้เรานอนโรงแรมในอำเภอเมือง

ด้วยความที่ปีนี้สถานการณ์ของโควิด-19 ยังน่าห่วง การเข้าร่วมงานก็ต้องเข้มงวด โดยจังหวัดเปิดให้ลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนมาเที่ยว ผ่านระบบออนไลน์ทั้งชาวต่างชาติและคนไทย รับจำกัดเพียงวันละ 15,000 คนเท่านั้น

จากการสอบถามคนในพื้นที่บอกว่าเพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้บรรยากาศไม่ค่อยคึกคักนัก ภายในพื้นที่จัดงานไม่มีร้านค้าจำหน่ายสินค้า อาหารแบบงานเทศกาลทั่วไป มีเพียงการจำหน่ายกระทง และน้ำดื่ม เพื่อลดการแออัดของนักท่องเที่ยว แต่การประดับตกแต่งสถานที่ด้วยดวงไฟส่องสว่าง ตะคันดินเผา และประดับโคมไฟ กระทงเล็ก กระทงใหญ่ ก็ทำให้คนมาเยือนแบบเราได้มองเห็นความสวยงามของสถานที่ คือ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยแบบแทบไม่มีอะไรมาบดบัง

ยิ่งตอนเห็นประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวพร้อมใจกันแต่งชุดไทยมาร่วมงานแต่หัวค่ำ ยิ่งสร้างความประทับใจให้เรามากขึ้น ถึงขั้นต้องเช่าชุดไทยมาใส่ไปร่วมงานให้กลมกลืน

สิ่งที่เราประทับใจในงานมากที่สุดคือ การจุดพลุไฟในงานเหนือโบราณสถาน ที่สวยงามตระการตา โดยจุดพลุไฟ 2 รอบ คือ เวลา 20.00 น. และเวลา 22.00 น. เราร่วมชมในรอบสุดท้าย

ด้วยเมืองสุโขทัยเป็นเมืองมรดกโลก กิจกรรมส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรม เริ่มตั้งแต่การตื่นเช้ามาทำบุญตักบาตร ซึ่งสามารถจองไว้กับโรงแรมได้ โดยโรงแรมจะนิมนต์พระมาถึงที่ พร้อมจัดดอกไม้ ข้าว อาหาร น้ำดื่มให้

หากรู้สึกว่าการตักบาตรที่โรงแรมไม่ถึงแก่นก็แนะนำว่าให้ไปที่ “วัดตระพังทอง” หรือ “วัดสระพังทอง” เพื่อร่วมกิจกรรม “ตักบาตรวิถีไทย รับรุ่งอรุณแห่งความสุข” ซึ่งตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองสุโขทัยหรือทางทิศตะวันออกของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำที่เรียกว่า ตระพังทอง

สิ่งสำคัญของวัดนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทสมัยสุโขทัย จำหลักเป็นลายมงคล 108 ประการ รอยพระบาทนี้ ได้เคลื่อนย้ายมาจากเขาพระบาทใหญ่ ซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไททรงสร้าง ประดิษฐานไว้ ณ เขาสุมนกูฏ เมื่อปี พ.ศ. 1902

คำว่า ตระพัง มีรากศัพท์มาจากภาษาเขมร แปลว่า บ่อหรือสระน้ำที่ขุดขึ้น และเป็นที่มาของชื่อวัดแห่งนี้ คติการสร้างวัดบนเกาะกลางน้ำ เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากการเผยแผ่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งแพร่หลายในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี

 

หรือใครอยากจะดื่มด่ำกับบรรยากาศพระอาทิตย์ขึ้น แนะนำไปชมที่ “วัดตะพานหิน” หรือ “วัดสะพานหิน” ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงเมืองเก่าสุโขทัยทางทิศตะวันตก โดยอยู่ในเขตอรัญวาสี เนื่องจากวัดดังกล่าว ตั้งอยู่บนภูเขาลูกเตี้ยๆ ผู้ไปเยือนต้องเดินขึ้นไปตามทางที่ปูลาดด้วยหินจากตีนเขาขึ้นไปเป็นระยะทาง 300 เมตร เชื่อกันว่าที่นี่เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามที่สุดในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพราะเมื่อขึ้นไปถึงข้างบนที่วัดตั้งอยู่จะมองเห็นวิวข้างล่างได้แบบพาโนราม่า คุ้มค่ากับการตื่นเช้าแน่นอน

ที่นี่ยังมีสิ่งสำคัญคือ พระประธาน เป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระปางประทานอภัย สูง 12.50 เมตร เรียกว่า พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปยกพระหัตถ์ข้างใดข้างหนึ่งขึ้น หันฝ่าพระหัตถ์ออก ปลายนิ้วพระหัตถ์ตั้งขึ้น เรียกว่าการแสดงปางประทานอภัย

นอกจากนั้น ยังได้ไปเยือน หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ บ้านนาต้นจั่น ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็ง สามัคคี และการบริหารจัดการที่ดี ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่แนะนำว่าควรมาเยือน เพราะมีครบทั้งร้านอาหารพื้นเมืองโดยเฉพาะ “ข้าวเปิ๊บ” เป็นอาหารประจำถิ่น หน้าตาคล้ายกับก๋วยเตี๋ยวบวกข้าวเกรียบปากหม้อ

วิธีทำ ใช้แป้งหมักที่เหลือจากการทำขนมจีน มาทำข้าวเปิ๊บ ด้วยการนำแป้งมาละเลงบนผ้าขาวบางลักษณะคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ จากนั้นนำผักที่อยากทานมาใส่ เช่น ถั่วงอก กะหล่ำปลี ผักบุ้ง เสร็จแล้วพับสี่มุม ตักใส่ถ้วย ใส่ไข่ดาว ซึ่งใช้วิธีการนึ่ง นำไข่ไก่ตอกบนผ้าขาวบางทานคู่น้ำซุปกระดูกหมู ปรุงรสตามใจชอบ

ที่มาของชื่อเมนูนี้มาจากคำว่า “เปิ๊บ” ภาษาท้องถิ่น หมายถึง พับ ซึ่งเมนูนี้ใช้แผ่นแป้งเพื่อห่อผักต่างๆนั่นเอง

อีกเมนูที่ขึ้นชื่อคือ “น้ำพริกซอกไข่” คำว่า “ซอก” เป็นภาษาของชาวบ้านนาต้นจั่น หมายถึง “การตำเบาๆ” ไม่ต้องให้ละเอียด วิธีการทำคือ ตำพริกแห้ง กระเทียม ให้ได้ที่ เน้นใส่กระเทียม ปรุงรสด้วย น้ำปลา มะนาวแล้วใส่ไข่ต้มที่ฝานผ่าซีกลงไป ตำเบาๆหรือซอกไข่ หรือคนให้น้ำพริกพอซึมเข้าเนื้อไข่ แค่นี้ก็ได้เมนูอร่อยประจำถิ่นแล้วเสิร์ฟพร้อมผักสด ผักลวก

นอกจากร้านอาหารแล้ว ยังมีร้านจำหน่ายสินค้าฝีมือคนในพื้นที่ โดยเฉพาะงานผ้าจากกลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านนาต้นจั่น ผลิตผ้าฝ้ายด้วยการนำมาหมักโคลนสินค้าขึ้นชื่อของที่นี่ พร้อมทั้งเสื้อผ้า ของกิน พื้นเมือง เดินช็อปปิ้งเหนื่อยก็พักนั่งชิลๆที่ร้านกาแฟ ที่มีหลากหลายร้าน

หรือถ้าต้องการที่พักแบบโฮมเตย์ในบรรยากาศสบายๆก็ติดต่อหรือดูรายละเอียดได้ที่ เฟซบุ๊ก โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย มีให้เลือกหลายหลังในราคาเกินคุ้ม พร้อมกิจกรรม เช่น ใส่บาตรหน้าที่พัก ปั่นจักรยานชมทุ่ง ชมวิถีชีวิตชาวบ้านทั้งการทำตุ๊กตาบาร์โหน ชมการทำผ้าหมักโคลน ทดลองทำข้าวเปิ๊บ ชิมอาหารท้องถิ่น เป็นต้น เรียกได้ว่า 3 วัน 2 คืนเที่ยวจนอิ่มใจ

ส่วนวันเดินทางกลับ เราต้องมาขึ้นเครื่องที่สนามบินพิษณุโลกในเวลาหกโมงเย็น ทำให้มีเวลาไปแวะกินข้าวเที่ยงที่ร้าน “สิบสองหน่วยตัด” (รุ่งอรุณแห่งความสุข เมล่อ แอนด์ ฟาร์ม) อ.สวรรคโลก ร้านอาหารชื่อแปลกหู ซึ่งมาจากหนึ่งในลายผ้าทอของสุโขทัย

จากนั้นเดินทางต่อไปยังจ.พิษณุโลก เมื่อมากราบลา พระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ก่อนไปจิบกาแฟ อาหารว่างที่ “นาข้าวคาเฟ่” อ.เมือง จ.พิษณุโลก ขอบอกว่าบรรยากาศทั้งสองที่สวยมากๆ โดยเฉพาะใครที่เป็นขาแชะ เก็บภาพได้เป็นร้อย อิ่มทั้งท้องอิ่มทั้งใจ

ขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับบรรยากาศก็ถึงเวลาต้องบอกลาทริปนี้ เพื่อเดินทางไปเช็คอินขึ้นเครื่องกลับ ตลอด 3 วัน 2 คืน ที่ได้มาเยือนดินแดนแห่งนี้ ยอมรับว่าความคิดที่มีต่อเมืองนี้เปลี่ยนไป เดิมคิดว่ามีแต่โบราณสถาน แต่พอได้ไปแล้วพบว่าสุโขทัยมีสถานที่ กิจกรรมที่น่าสนใจซ่อนอยู่มากมาย สำหรับที่นี่ … เมือง “สุโขทัย” เมืองที่มีความหมายดีงามว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข” ที่เราสัมผัสได้ตลอดทริป

หากใครกำลังวางแผนจะออกท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ฝากทริป “สุโขทัย” ไว้ในอ้อมใจด้วยนะคะ

เรื่อง: วรนุช มูลมานัส
ภาพ: มด ช่างภาพ 124 และเฟซบุ๊ก โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน