ข้าวคืออาหารจานหลักที่อยู่คู่วิถีชีวิตคนไทยมาตั้งแต่โบราณ โดยมีวัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ ที่มีข้าวเป็นจุดกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นการลงแขก การขอฝน และบุญกลางบ้านซึ่งมักจัดในช่วงก่อนที่จะเตรียมดินเพื่อปลูกข้าว หรือการทำขวัญข้าว การสู่ขวัญข้าว การสู่ขวัญยุ้ง และสู่ขวัญลาน เป็นต้น

งานเทศกาลข้าวใหม่ ประจำปี 2565 “จากต้นทางหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน สู่ข้าวใหม่กรุ่นกลิ่นในจาน” จัดขึ้นเมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ก่อน ณ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ตำบลไทรม้า อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ภายใต้ความร่วมมือกับโครงการสวนผักคนเมือง พร้อมด้วยภาคีต่างๆ รวมถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของข้าวและชาวนา โดยเฉพาะข้าวพื้นบ้านของไทยที่เพาะปลูกตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่มีความหลากหลายทั้งในมิติของพันธุกรรม โภชนาการ และรสชาติ

แม่งานใหญ่ สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) อธิบายถึงการจัดเทศกาลข้าวใหม่ในทุกปีว่า เพราะข้าวเป็นทั้งอาหารและยังมีความสำคัญในด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ การที่มีข้าวหลากหลายสายพันธุ์นับเป็นบทบาทสำคัญของชาวนา เพราะเป็นทั้งผู้ปลูก รักษาหรือปรับปรุงพันธุ์ข้าว แม้ในระยะหลังจะมีนักวิชาการเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ แต่การจัดการฟื้นฟู วิถีชีวิต ความรู้ภูมิปัญญาต่างๆ ของชาวนาจึงยังทำให้ข้าวคงอยู่หลายสายพันธุ์ตามระบบนิเวศน์ และทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร การจัดงานนี้จึงทำให้ได้รับรู้เรื่องราวของข้าวและชาวนา ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับอนาคต และเป็นฐานในการสืบสานวิถีและรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้ด้วย

สอดคล้องกับเหตุผลในการร่วมส่งเสริมการจัดกิจกรรมนี้ของ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ เนื่องจากความหลากหลายทางทรัพยากรอาหาร และการสืบสานวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น คือรากฐานสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งของระบบอาหารชุมชนสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยงานนี้ยังเป็นการรวมพลังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบตั้งแต่การผลิต การกระจาย และการบริโภค ด้วยการแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้ และสื่อสารสร้างความรอบรู้ในวิถีการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

​“สสส.มุ่งเน้นการจัดการเชิงระบบเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตสู่เกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูฐานทรัพยากรอาหาร และกลไกเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหาร เพื่อสร้างระบบการเชื่อมโยงอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้ประชาชนทุกช่วงวัยเข้าถึงอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง”

กิจกรรมในงานมีทั้งการให้ความรู้ในเรื่องของพันธุ์ข้าวที่นำมาจัดแสดงถึง 50 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์ก็หุงให้ชิมกันอย่างเอร็ดอร่อยในแบบ “ร้อยรสจากรวง” ซึ่งเป็นข้าวใหม่ที่มาจากทั่วประเทศ เช่น ข้าวพันธุ์หอมปทุม ข้าวหอมกระดังงา ข้าวหอมพวง ข้าวหอมช่อราตรี และข้าวที่นำมาเปิดตัวในงานนี้เป็นครั้งแรก คือ ข้าวชมนาด จังหวัดนครสวรรค์ และข้าวเบายอดม่วงที่มีสีเหมือนใบมะม่วงอ่อน จังหวัดตรัง

มีการล้อมวงคุย “ทางฝันวันนี้ของข้าวพื้นบ้านไทย” กับ อ.เดชา ศิริภัทร แห่งมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งอุทิศเวลาทั้งชีวิตในการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องข้าว และ “ล้อมวงกินข้าว เล่าเรื่องในนา” กับกูรูสำรับอาหารไทยอย่าง กฤช เหลือลมัย

และที่ถูกใจคนรักสุขภาพก็คือโซนของตลาดข้าวพื้นบ้าน ซึ่งพี่น้องเกษตรกรจากทั่วประเทศนำข้าวพื้นถิ่นเก็บเกี่ยวใหม่ๆ มาออกร้าน อีกทั้งสินค้าเกษตรอินทรีย์นานาชนิด อาทิ ผัก ผลไม้ ไข่ไก่ เนื้อสัตว์จากการเกษตรและประมงพื้นบ้าน มาตั้งแผงให้จับจ่ายกันภายในงานอย่างจุใจกว่า 30 บูธ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน