เรามักติดภาพความจำว่า ‘การเล่น’ ของวัยเด็ก คือ เรื่องไร้สาระ แต่ความเป็นจริงแล้ว การปล่อยให้ ‘เด็กเล่นอย่างอิสระ’ (Free Play) คือ จุดต้นธารของพัฒนาการเด็กทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัย ที่สมองของเด็กเป็นช่วงวัยนี้จะทำงานสูงสุดขณะเล่น เพราะสมองอยู่ในสภาวะที่พร้อมเรียนรู้ ไม่ตึงเครียด ตื่นตัว มีแรงจูงใจ รู้สึกดี ทำให้ส่งผลต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพียงเท่านี้ก็จะเห็นว่า ‘การเล่นอิสระ’ ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แต่มีคุณค่ามหาศาล หากพ่อแม่ ผู้ปกครองมีความเข้าใจเด็ก ๆ

แต่ทว่า โลกที่กำลังหมุนอย่างรวดเร็วกำลังทำให้กิจกรรมการเล่นของเด็กถูกจำกัด เด็กหลายคนมักถูกบีบให้เข้าสู่ระบบการเรียนพิเศษเพิ่มมากขึ้น ด้วยปัจจัยการแข่งขันทางการศึกษาที่สูงขึ้น ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น การเล่นของเด็กสมัยปัจจุบัน มักถูกวางกติกาและขอบเขตเฉพาะการใช้คีย์บอร์ดและหน้าจอโทรศัพท์มือถือเพียงเท่านั้น ส่งผลให้การเล่นอย่างอิสระของเด็กถูกบีบให้ลดลง และต่อเนื่องถึงพัฒนาการที่มีประสิทธิภาพน้อยลงตามมาอีกด้วย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาอารมณ์และปัญญาของเด็ก จึงร่วมมือกับ ภาคีเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก และแฟนเพจเฟซบุ๊ก Leeway การเรียนรู้ผ่านการเล่น จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ ‘เด็กเล่นอิสระ Free Play สร้างพลังสุข เชื่อมโยงทุกความสัมพันธ์’ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ร่วมจุดประกายแนวคิดให้ครอบครัวเกิดการเลี้ยงลูกเชิงบวก สนับสนุน ‘การเล่นเพื่อการเรียนรู้’ สร้างสุขภาวะที่ดีในเด็ก

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบให้เด็กต้องเรียนออนไลน์ ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ จนเกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เกิดความเครียด ขาดโอกาสพบปะเพื่อนวัยเดียวกัน หนึ่งในผลสำรวจเกี่ยวกับความถดถอยการเรียนรู้เด็ก ศึกษาโดยคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า เด็กเล็ก 25 จังหวัดทั่วประเทศ เกิดภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย ซึ่งข้อมูลชุดนี้เป็นการวัดจาก ค่าความพร้อมในการเข้าสู่ระบบประถมศึกษาของเด็กเล็ก นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กในศูนย์เด็กเล็กหรืออนุบาลที่ต้องปิดตัวช่วงโรคระบาดมีค่าความพร้อมต่ำกว่าเด็กที่ได้ไปเรียนตามปกติ

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ สสส. และภาคีเครือข่าย เดินหน้าร่วมผลักดันและฟื้นฟูการเรียนผ่านการเล่นเด็กเล็ก ด้วยการเน้นให้ ‘เด็กเล่นอิสระ’ เพื่อให้ได้รับทั้งความรู้ ความสุข และเกิดการพัฒนาการ ซึ่งส่งผลดี 3 ด้าน คือ 1.กระตุ้นให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการส่งสัญญาณประสาท 2.เพิ่มการประสานงานระหว่างเซลล์สมองได้ดีขึ้นทำให้มีพัฒนาการตามวัย และ 3.เกิดทักษะในชีวิตประจำวันรู้จักปรับตัวและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

นอกจากนี้ ทุกรูปแบบการเล่น ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ สิ่งสำคัญ คือ ทุกรูปแบบการเล่นต้องสามารถส่งเสริมจินตนาการ ต้องส่งเสริมความใคร่รู้ และต้องส่งเสริมการกระตุ้นให้เกิดการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา ทั้งนี้ ควรจัดสรรเวลาที่เหมาะสม มีการควบคุม ดูแล หรือมีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำอยู่เสมอ

“ความเครียดของเด็กเล็กเป็นสิ่งที่สังเกตได้ยาก มักจะเห็นชัดขึ้นเมื่อเด็กโต เมื่อปี 2564 กรมสุขภาพจิตเผยข้อมูลของเด็กนักเรียนมากกว่า 6 หมื่นคน พบว่ากว่า 7 พันคนมีสัญญาณเสี่ยงทั้งด้านอารมณ์ พฤติกรรม และทักษะสังคม เราไม่อยากให้เด็กเล็กอยู่ในสถานการณ์นี้ต่อไป เด็กควรได้เล่นเด็กได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้มีความสุขจนนำไปสู่การเรียนรู้ที่ดี สุขภาพกายใจที่ดี”

“สิ่งที่ทำได้ขณะนี้ คือ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ร่วมกันขับเคลื่อนเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยยึด ‘เด็ก’ และ ‘พัฒนาการแต่ละช่วงวัย’ เป็นตัวตั้ง ไม่ยึดวิชาการเพียงอย่างเดียว เพื่อไม่ให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำร้ายเด็กไปมากกว่านี้”

“สสส. จึงขอชวน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ชุมชน และสังคม ร่วมสนับสนุนเปิดพื้นที่ให้ ‘เด็กเล่นอย่างอิสระ‘ ตามธรรมชาติของวัยอย่างน้อยวันละ 30 นาที โดยจัดเตรียมของเล่นจินตนาการปลายเปิดที่เหมาะสมกับวัย เพื่อให้เขามีความสุขจากหัวใจ ฟื้นฟูตัวเองจากความเครียดความกดดัน ที่สำคัญยังเป็นการสร้างพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวอีกด้วย” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวปิดท้าย


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน