คุณแม่ช็อก พบภาวะเต้านมเกิน หลังน้ำนมไหลออกมาจากรักแร้ แจงสาเหตุ-อาการ แพทย์ย้ำไม่อันตรายและไม่เสี่ยงมะเร็งเต้านม

ลินด์เซย์ ไวท์ (@thelittlemilkbar) แชร์ประสบการณ์การให้นมบุตรผ่านช่องทางติ๊กต็อก โดยคุณแม่ตกใจเมื่อรู้ว่ารักแร้ของตนเองมีน้ำนมไหลออกมา พร้อมทั้งในตอนแรกเชื่อว่า เธอมีหัวนมที่สาม ซึ่งสร้างความช็อกให้กับชาวเน็ตเป็นอย่างยิ่งถึงกับมียอดรับชมมากกว่า 5.1 ล้านวิวเลยทีเดียว

ลินด์เซย์อธิบายถึง น้ำนมจากหน้าอกสามารถไหลออกมาจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้อย่างไร พร้อมกล่าวเสริมว่า “สิ่งนี้จะทำให้คุณทึ่ง วันหนึ่งฉันตระหนักว่าผมของอัลลีเปียกโชก จากนั้นฉันก็รู้ว่ามีบางสิ่งไหลมาจากรักแร้ของฉัน ทีแรกฉันคิดว่าแค่เหงื่อ แต่ฉันก็สังเกตเห็นก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง เมื่อลองบีบก้อนดังกล่าวและทำให้ฉันประหลาดใจมาก ‘น้ำนมพุ่งออกมา’ เลยตัดสินใจไปพบแพทย์”

“ฉันไปหาหมอโดยคิดว่าอาจมีหัวนมที่สาม แต่เธอบอกว่า ไม่ น้ำนมไหลผ่านรักแร้ของคุณจริง ๆ แทนที่จะมีก้อนใหญ่เพียงก้อนเดียว ฉันมีสิ่งเล็ก ๆ นี้สองก้อน แถมยังมีในรักแร้ทั้ง 2 ข้างอีกด้วย เลยทำให้น้ำนมรั่วจากทั้ง 2 ด้านหนึ่ง ฉันเป็นผู้ผลิตนมอย่างแน่นอน!”

ภาพจาก TikTok/@thelittlemilkbar

ตามที่เอมิลี บริทติงแฮม ที่ปรึกษาการให้นมบุตรที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการระหว่างประเทศ (IBCLC) เผยว่าเป็นเรื่องปกติที่เต้านมจะมีเนื้อเยื่อที่ขยายไปถึงรักแร้

“เมื่อตั้งครรภ์ได้ 6 สัปดาห์ เส้นน้ำนมเริ่มพัฒนาขึ้นโดยเริ่มจากใต้วงแขน เส้นเหล่านี้ลากไปตามลำตัวทั้งสองข้างของคุณและขยายไปถึงขาหนีบ ในระหว่างตั้งครรภ์ ฮอร์โมนที่ช่วยสร้างน้ำนมนั้นสูงกว่า 10 – 20 เท่า และเสริมว่าฮอร์โมนเหล่านี้กระตุ้นให้ท่อน้ำนมขยายตัว ท่อต่าง ๆ เริ่มแตกแขนงออกไปภายในหน้าอก ซึ่งสามารถยืดไปถึงเนื้อเยื่อเต้านมตามแนวน้ำนม ตั้งแต่ตั้งครรภ์ได้ 16 สัปดาห์ก็จะเริ่มฝ่อ”

ภาพจาก TikTok/@thelittlemilkbar

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเผยว่า สุภาพสตรีบางท่านอาจมีเต้านมอีก 2 – 4 เต้าเกิดขึ้นที่รักแร้ ภาวะทั้งหมดนี้ว่า เต้านมเกิน (Accessory Breast) มนุษย์เราขณะที่ยังอยู่ในท้องมารดาก็มีการพัฒนาของเต้านมหลายเต้าเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ

แต่ว่าในระหว่างการพัฒนาก่อนจะคลอดออกมานั้น เนื้อเต้านมที่ตำแหน่งอื่น ๆ จะฝ่อและสลายไป ก่อนคลอดออกมา ทำให้มนุษย์เรามีเต้านมอยู่เพียงคู่เดียว ทว่าในบางคนเนื้อเต้านมในบริเวณอื่น ไม่ฝ่อและสลายตัวไป ทำให้ยังคงมีเนื้อเต้านมเหลืออยู่ในบริเวณต่าง ๆ รวมถึงรักแร้ ในทางการแพทย์อาจเรียกว่า Axillary Breast หรือ เต้านมรักแร้

ภาพจาก TikTok/@thelittlemilkbar

เต้านมที่เกินมา อาจพบการขยายตัวของเนื้อเยื่อบริเวณนั้นเป็นรูปเต้านม ในบางรายจะย้อยออกเป็นเต้านมชัด อาจมีหัวนมด้วย และน้ำนมไหลออกมาได้ บ่อยครั้งที่ผู้หญิงมักไม่ได้สังเกตุว่ามีก้อนเนื้อเกิดขึ้นที่บริเวณรักแร้ แต่จะรู้สึกตึงหรือเจ็บที่บริเวณรักแร้แทน ซึ่งอาการตึงรักแร้จะเป็นมากขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้กับรอบประจำเดือน บางคนอาจรู้สึกตึงช่วงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ทั้งนี้เพราะช่วงเวลาดังกล่าว เนื้อเยื่อเต้านมได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้มีการขยายใหญ่ขึ้น

ภาวะเต้านมเกิน เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่มีอันตรายและไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเอาเต้านมเกินออก ยกเว้น กรณีที่เต้านมเกินนั้นมีขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การพบก้อนที่รักแร้ จำเป็นต้องแยกให้ออกว่าเป็นเนื้อเต้านมเกิน เป็นการอักเสบของต่อมไขมันรอบรูขุมขนที่รักแร้ หรือเป็นภาวะที่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โตขึ้น ซึ่งอาจสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งเต้านม

@thelittlemilkbar #motherhood #breastfeeding #momlife #didyouknow #mindblowing #momsoftiktok #coolmomsoftiktok #newmom #prego #pregobelly #breastfeedingmom #birth ♬ Lalala – Y2K & bbno$

ขอบคุณที่มาจาก Ladbible คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน