แพทย์เผย สาเหตุ-สัญญาณเตือน’มะเร็งปอด’ ไม่ใช่สิงห์อมควัน ก็ต้องระวังกว่าที่คิด คร่าชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย

มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก และแพร่กระจายไปตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย

ทางกรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชี้มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย โดยเป็นอันดับ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง ซึ่งมีการตรวจคัดกรองให้พบโรคในระยะแรกทำได้ยากและมีอัตราการตายสูง โดยมีปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอดหลายประการ

การสูบบุหรี่และยามวนต่างๆ – เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด รวมถึงมะเร็งชนิดอื่น ๆ เพราะควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 เท่า ควันบุหรี่มือสอง – แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่โดยตรง แต่การได้รับควันบุหรี่มือสองจากการสูดหายใจเข้าไปจะทำให้มีสารพิษตกค้าง ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งต่าง ๆ ได้

การทำงานในอุตสาหกรรมที่มีสารก่อมะเร็ง – การสัมผัสสารก่อมะเร็ง เช่น โครเมียม แร่ใยหิน(แอสเบสตอส) แร่เรดอน และนิกเกิล เป็นต้น จากการก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร หรือ ฉนวนกันความร้อน ซึ่งผู้เสี่ยงคือผู้ที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแอสเบสตอสปนเปื้อนเป็นเวลานาน อาจใช้เวลา 15 – 35 ปี ในการทำให้เกิดมะเร็งปอด สำหรับผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ทำงานกับฝุ่นแอสเบสตอส อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า

สภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองพิษ – จากการศึกษาพบว่า ฝุ่น PM2.5 สารเบนซิน ฟอร์มาลดีฮายด์ ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้มากถึง 1 – 1.4 เท่า ซึ่งถือว่ามีความร้ายแรงเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ พันธุกรรม – แม้โรคมะเร็งปอดจะไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรง แต่หากมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งปอดตั้งแต่อายุน้อย ๆ สมาชิกในครอบครัวก็มีความเสี่ยงสูง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมะเร็งปอดจำนวนมาก ไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่หรือได้รับสารแอสเบสตอสมาก่อน ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการคัดกรองโรคมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมักจะเป็นโรคในระยะที่ลุกลามไปแล้ว ทำให้การตรวจพบโรคในระยะแรกทำได้ยากและมีอัตราตายสูง วิธีที่ดีที่สุดในปัจจุบันจึงเป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังนั้น ทางทีมข่าวสดจะขอเสนอสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งปอดให้ทุกท่านสังเกตอาการของตนเอง

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ แนะสังเกตอาการที่น่าสงสัยและสัญาณเตือนว่าอาจเป็นโรคมะเร็งปอด ได้แก่ ไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์, ไอเป็นเลือด, เสมหะปนเลือด, เจ็บหน้าอก, น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ, เหนื่อยง่าย, อ่อนเพลีย, เบื่ออาหาร, มีปัญหาการหายใจสั้น, เสียงแหบ และบางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือมีปอดติดเชื้อซ้ำซาก ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งปอดอาจพบในโรคอื่นได้ เช่น วัณโรคปอด

ตามรายงานของโรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามขนาดของเซลล์ ซึ่งความแตกต่างของขนาดเซลล์นี้มีความสำคัญ เนื่องจากวิธีการรักษาจะแตกต่างกัน

  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10 – 15% เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การรักษาจะไม่ใช้วิธีการผ่าตัด ส่วนมากรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี
  • มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-small cell lung cancer) พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก พบได้ประมาณ 85 – 90% แต่แพร่กระจายได้ช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ

หากมีอาการสงสัยต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม การวินิจฉัยทำโดยการถ่ายภาพรังสีปอด (X-ray หรือ CT scan) ร่วมกับการตรวจหาเซลล์มะเร็งเช่นการตรวจจากเสมหะ หรือการตัดชิ้นเนื้อจากปอดมาตรวจ เมื่อพบว่าเป็นมะเร็งปอดแน่นอนแล้วแพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติร่วมตัดสินใจ โดยพิจารณาจากชนิดของมะเร็ง ระยะโรคและการลุกลาม ความแข็งแรงของผู้ป่วยเป็นหลัก สำหรับการรักษามีทั้งการผ่าตัด การใช้ยา การฉายแสง หรือรักษาร่วมกันหลายวิธี

เนื่องจากมะเร็งปอดการตรวจคัดกรองให้พบโรคในระยะแรกทำได้ยากและมีอัตราตายสูง ดังนั้น การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่ ป้องกันตัวจากการสัมผัสแร่ใยหินและมลภาวะ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย และรีบมาพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ขอบคุณที่มาจาก กรมการแพทย์ โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน