คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

[email protected]

สวัสดีค่ะ น้าชาติ

อยากรู้ว่าขวดแก้วเล็กๆ ที่ใส่ยาใช้วิธีการผลิตต่างจากขวดแก้วทั่วไปหรือไม่ เพราะดูแล้วคงต้องปลอดภัยกว่าขวดแก้วอื่นๆ ใช่มั้ยค่ะคุณน้าชาติช่วยตอบด้วยค่ะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

แพม

ตอบ แพม

คำตอบเรื่องนี้ได้จาก ดร.เทพีวรรณ จิตรวัชรโกมล หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านแก้ว กรมวิทยาศาสตร์บริการ ว่าความสำคัญของการเลือกใช้ภาชนะบรรจุยาเพื่อให้เหมาะสมกับยาแต่ละชนิด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตผู้บริโภค

ภาชนะแก้วบรรจุยาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผิวมีความทนทานต่อสารเคมีสูง ผิวไม่เปลี่ยนแปลงสภาพง่ายมีความเสถียรสูง การนำมาใช้บรรจุยาต้องวิเคราะห์ทดสอบสมบัติทั้งทางกายภาพและสมบัติทางเคมี เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าปลอดภัยจริง

ผู้ใช้หรือผู้ผลิตยาต้องรู้ประเภทของภาชนะแก้วเพื่อใช้บรรจุยาอย่างถูกต้อง การวิเคราะห์ทดสอบทางกายภาพ เป็นการตรวจสอบมิติ ขนาด ความหนา น้ำหนัก ความจุหรือปริมาตร การส่องผ่านแสง สีของแก้ว ความทนทานต่อความดันภายใน ความแข็งแรง ทนทานต่อการขีดข่วน

ด้านเคมีเป็นการทดสอบความทนทานต่อกรด ด่าง น้ำ และสารเคมี

การวิเคราะห์ปริมาณของโลหะหนัก ที่เป็นโลหะหนักที่อาจปล่อยจากผิวแก้วเมื่อสัมผัสกับสารละลาย หรือโลหะหนักในเนื้อแก้ว ซึ่งขั้นตอนการวิเคราะห์ดังกล่าว เป็นขั้นตอนสำคัญที่ศูนย์เชี่ยวชาญด้านแก้วใช้ในขั้นตอนการทดสอบวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์แก้วที่ส่งเข้ามาทดสอบเช่นกัน

การแบ่งประเภทของภาชนะแก้วบรรจุยา กำหนดตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แบ่งเป็น 4 ประเภท

ประเภท 1 เป็นแก้วบอโรซิลิเกต มีความทนทานทางเคมีสูง ผิวมีความเป็นกลางมากที่สุด ใช้กับยาได้ทุกชนิดรวมทั้งที่เป็นด่างอ่อนๆ แต่เนื่องจากราคาแพง โดยทั่วไปจึงใช้ทำภาชนะแก้วบรรจุยาฉีด

ประเภท 2 เป็นแก้วโซดาไลม์หรือแก้วโซดาไลม์ซิลิกาที่ผ่านกรรมวิธีดีอัลคาไลส์หรือการกำจัดด่างที่ผิวแก้วบางส่วนออกอย่างเหมาะสม ใช้ทำภาชนะบรรจุยาฉีดที่มีความเป็นกรดหรือเป็นกลาง โดยเฉพาะใช้ทำขวดน้ำเกลือ

ประเภท 3 เป็นแก้วโซดาไลม์หรือแก้วโซดาไลม์ซิลิกาที่ใช้ทำภาชนะบรรจุยาที่ใช้รับประทาน แต่ไม่ใช้ทำภาชนะบรรจุยาฉีด ยกเว้นทดสอบแล้วมีความคงตัวเหมาะสม

ประเภทที่ 4 NP เป็นแก้วโซดาไลม์หรือแก้วโซดาไลม์ซิลิกาที่ใช้ทำภาชนะบรรจุยาที่ใช้รับประทานหรือยาที่ใช้ภายนอกเฉพาะที่ แต่ไม่ใช้ทำภาชนะบรรจุยาฉีด

ภาชนะแก้วบรรจุยา ประเภท 1 และประเภท 2 ไม่มีการผลิตภายในประเทศ จะต้องสั่งเป็นสินค้านำเข้าเท่านั้น แต่คาดว่าในอนาคตประเทศไทยพัฒนาแก้วภายในประเทศให้เป็นประเภท 2 ได้ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

ศูนย์เชี่ยวชาญด้านแก้วของกรมวิทยาศาสตร์บริการร่วมมือกับสถาบันเชี่ยวชาญในเยอรมนี และเป็นสมาชิกขององค์กรด้านแก้วระหว่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2548 รวมทั้งเป็นสมาชิกของคณะทำงานด้านวิชาการ (TC 02) ที่ทำงานเกี่ยวกับการทดสอบด้านเคมีของแก้วโดยตรง ทั้งยังมีความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติการ กลางในการแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยของภาชนะแก้วบรรจุยา ผู้ผลิตยาและผู้ผลิตขวดบรรจุมีหน้าที่ต้องส่งตรวจสอบภาชนะแก้วบรรจุยาก่อนนำออกจำหน่าย

ให้บริการทดสอบภาชนะแก้วบรรจุยาให้แก่หน่วยงานต่างๆ เช่น สภากาชาดไทย กรมปศุสัตว์ เป็นต้น

ผู้สนใจขอข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการโทร.0-2201-7097-8 หรือดูรายละเอียดที่ www.dss.go.th

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน