ไขข้อสงสัย! 4 ขั้นตอนการใช้สิทธิ UCEP Covid Plus เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต อาการป่วยแบบไหนถึงเข้ารักษาในโรงพยาบาลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายได้
หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ถึงระบบ UCEP COVID Plus ที่เป็นนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป ทำให้หลาย ๆ คนอาจะเกิดการสับสนว่าขั้นตอนการใช้สิทธิ UCEP และ UCEP COVID Plus จะต้องทำอย่างไร ทางทีมข่าวสดจะมาไขข้อข้องใจดังกล่าว
ตามรายงานของ สปสช. ขั้นตอนการใช้สิทธิ UCEP มีดังนี้
- ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
- โรงพยาบาลดำเนินการประเมินอาการและคัดแยกระดับความฉุกเฉินของผู้ป่วย ตามแนวทางที่
- สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด
- ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล โดยแบ่งออกเป็นกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและกรณีไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
กรณีไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้รีบประสานโรงพยาบาลตามสิทธิของของแต่ละคน เช่น สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ และสิทธิบัตรทอง ถึงจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งในส่วนของค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ค่ารักษาพยาบาล และค่าส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน
กรณีเข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ UCEP ทันทีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงหรือพ้นภาวะวิกฤต ซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในโรงพยาบาลใดก็ได้ที่ใกล้บ้าน โดย 6 อาการป่วยเข้าเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉิน ได้แก่
- หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
- หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
- ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
- เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
- แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
- อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
การรักษาโควิดตามสิทธิ UCEP COVID Plus มีดังนี้
1.สถานพยาบาลต้องจัดให้มีการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล กรณีที่มีปัญหาการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้ปรึกษาศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
2. สถานพยาบาลต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดกรณีมีความจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปรับการรักษายังสถานพยาบาลอื่น สถานพยาบาลต้องจัดการให้มีการส่งต่อตามความเหมาะสม
3. สถานพยาบาลจะได้รับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่รับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยสถานพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตาม
4. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตรวจสอบความถูกต้อง สรุปค่าใช้จ่ายและแจ้งให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายให้ทราบภายใน 30 วัน นับตั้งแต่เวลาที่ได้รับเอกสารครบถ้วนแล้ว
5. กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมาย ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้สถานพยาบาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแจ้งกองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาล
6. กรณีส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจากสถานพยาบาลแห่งหนึ่งไปยังสถานพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง จะได้รับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาตั้งแต่รับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
นอกจากนี้ ประชาชนที่มีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) โทร. 02-872-1669 หรือ E-mail [email protected] ติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่โดยไม่ต้องสำรองจ่าย โดยสามารถเช็กเงื่อนไข UCEP Covid Plus สิทธิประโยชน์ และอาการแบบไหนรักษาฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ได้ที่ (คลิก)