คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

[email protected]

น้าชาติ ขอความรู้ว่าป่าสงวนแห่งชาติต้องมีลักษณะแบบไหน

Nick

ตอบ Nick

ป่าสงวนแห่งชาติ หมายความถึงป่าที่ได้กำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ทั้งนี้กำหนดว่า ป่าสงวนแห่งชาติ คือป่าที่พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองป่า พ.ศ.2481 ประกาศว่าเป็นป่าสงวนและป่าคุ้มครอง และยังมีป่าสงวนอีกกรณีหนึ่งเป็นป่าซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยพิจารณาจากความจำเป็นเพื่อการรักษาสภาพป่าไม้ของป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น ในกฎกระทรวงดังกล่าวต้องมีแผนที่แสดงแนวเขตของป่าสงวนไว้ด้วย ทั้งเมื่อประกาศแล้วต้องปิดประกาศสำเนากฎกระทรวงไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน และในหมู่บ้านในเขตที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนทราบ

การประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มีข้อห้ามว่า ต้องไม่เป็นที่ดินของเอกชนที่มีสิทธิครอบครองอยู่แล้วก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นที่รกร้างว่างเปล่า หรือเป็นที่ที่อยู่ในความครอบครองของรัฐหรือทบวงการเมือง สำหรับกรณีปัญหามีชาวบ้านทำกินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้เกิดข้อพิพาทว่า ตนเคยอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวโดยชอบก่อนที่จะประกาศว่าเขตนั้นเป็นเขตป่าสงวน ในกรณีนี้จะต้องนำสืบพิสูจน์ ถ้าเป็นความจริง จะต้องเพิกถอนเขตดังกล่าวออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ถ้าไม่เป็นความจริง ชาวบ้านจะต้องอพยพออกจากพื้นที่ดังกล่าว เว้นแต่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิทำกินตามพ.ร.บ.

แนวคิดในการอนุรักษ์ป่าสงวนแห่งชาติ คือการสงวนและรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรป่าไม้ เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นป่าสงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์จากป่าในเชิงเศรษฐกิจ และนำผลประโยชน์จากป่าไม้มาเพื่อการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ และให้มีการใช้ประโยชน์นานที่สุดจนถึงลูกหลาน ดังนั้น กฎหมายจึงมีทั้งการห้ามมิให้บุกรุก หรือหาของป่า หรือเข้าไปก่อสร้างในเขตป่าสงวน แต่ถ้าเป็นพื้นที่ป่าดังกล่าวในเขตที่เรียกว่าป่าเสื่อมโทรม กรมป่าไม้ก็อาจอนุญาตให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินเข้าทำกินได้โดยไม่สามารถถือเอากรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองได้ หรืออาจให้เอกชนเข้ามาปลูกป่าทดแทนได้เพื่อพัฒนา ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ การศึกษาทางวิชาการอันจะนำไปสู่การพัฒนาทางระบบนิเวศ หรือการพัฒนาพันธุ์พืช เจ้าพนักงานป่าไม้มีสิทธิอนุญาตให้บุคคลเข้าไปในป่าเพื่อศึกษาได้

กรณีที่ถือว่าเป็นการบุกรุก หรือทำลายสภาพป่าสงวนแห่งชาติ มีกำหนดไว้ในพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14-20 สาระสำคัญดังนี้ 1.กระทำต่อต้นไม้ ดิน หิน กรวด ทราย แร่และน้ำมัน พืช สัตว์ต่างๆ หรือซากสัตว์ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนนั้น 2.ทำไม้ ซึ่งรวมถึงการตัด ขุด หรือชักลากไม้ที่มีอยู่ในป่า หรือนำไม้ที่อยู่ในป่าออกมาจากป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ว่าไม้นั้นจะเป็นไม้หวงห้ามตามกฎหมายป่าไม้หรือไม่ก็ตาม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน 3.เก็บหาของป่า ได้แก่ ไม้ฟืน เปลือกไม้ หิน ซากสัตว์ น้ำผึ้ง มูลค้างคาว เป็นต้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน

4.เข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออาศัยอยู่ แผ้วถาง เผาป่า หรือทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของป่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และ 5.กรณีที่ราษฎรอาจได้รับการอนุญาตให้เข้าไปทำกินได้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้แก่ การให้สิทธิทำกิน การอนุญาตให้ปลูกป่า หรือทำสวนป่า ในเขตป่าเสื่อมโทรม หรือการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่หลังจากที่สัมปทานตามกฎหมายแร่ เป็นต้น

ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-5 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท แต่ผู้กระทำจะต้องได้รับโทษจำคุกหนักขึ้น โดยต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-150,000 บาท ถ้าได้กระทำการบุกรุกมีเนื้อที่เกิน 25 ไร่ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้สัก ไม้ยาง ไม้สนเขา หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. ตามกฎหมายป่าไม้ หรือกระทำต่อไม้อื่นๆ ซึ่งมีจำนวนต้นหรือท่อนรวมกันเกิน 20 ต้นหรือท่อน หรือมีปริมาตรไม้เกิน 4 ลูกบาศก์เมตร หรือกระทำต่อต้นน้ำลำธาร และผู้นั้น รวมถึงครอบครัวและบริวาร ต้องถูกสั่งให้ออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ถ้าศาลพิพากษาว่ามีความผิด ทั้งถูกริบเครื่องมือ ยานพาหนะ เครื่องจักร เครื่องกล เช่น เลื่อย รถแบ๊กโฮ ขวาน มีด เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน