รู้ทัน “มะเร็งเต้านม” ภัยร้ายที่รักษาหายได้ ปัจจัยเสี่ยง-สัญญาณเตือนมีอะไรบ้าง พร้อมวิธีสำรวจตัวเองขั้นต้น

เมื่อคืนวานนี้ (26 มี.ค.) นักร้องหนุ่ม “ปู แบล็คเฮด” ได้แจ้งข่าวร้ายว่าได้สูญเสียคนรักอย่าง “นุ๊กซี่ อัญพัชญ์” หลังจากต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งเต้านมมาเป็นเวลานาน สร้างความเสียใจให้กับคนบันเทิงและแฟน ๆ ที่ติดตามข่าวเป็นอย่างมาก ทีมข่าวสดจึงขอพาทุกคนมาทำความเข้าใจกับภัยร้ายดังกล่าวกัน

มะเร็งเต้านมภัยร้ายคร่าหญิงไทย

จากสถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า “มะเร็งเต้านม” เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทยและพบเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลทางสถิติชี้ชัดว่าจะเริ่มพบมะเร็งเต้านมได้มากในผู้ที่มีอายุ 35 – 39 ปี และมีอัตราการพบสูงขึ้นมากเมื่ออายุ 40 – 44 ปี หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา ก็สามารถหายขาดจากโรคได้

มะเร็งเต้านมเกิดจากอะไร

มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม เซลล์เหล่านี้มีการแบ่งตัวผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้อาจมีการแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลือง ไปสู่ต่อมน้ำเหลือง หรือแพร่กระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ห่างไกล เช่น กระดูก ปอด ตับ เป็นต้น การตรวจพบมะเร็งในระยะแรกจะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม

สำหรับสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน ได้แก่ เพศ พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย, อายุที่มากขึ้น (เป็นความเสี่ยงพื้นฐานของการเป็นโรคมะเร็งโดยทั่วไป), พันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่, ผู้ป่วยมีประวัติรับรังสีรักษาบริเวณหน้าอก, มีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย ( < 11 ปี), หมดประจำเดือนช้า (> 54 ปี), มีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี

นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่ น้ำหนักตัวเกิน ปล่อยให้อ้วน ผู้หญิงอ้วนมักจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากกว่าปกติ ทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นตามน้ำหนักตัวและไขมันที่เพิ่มขึ้น, ดื่มสุราและสูบบุหรี่เป็นประจำ, การกินยาคุมติดต่อกันเป็นเวลานาน (มีผลต่อความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมเพียงเล็กน้อย) พบว่าในกลุ่มที่เริ่มใช้ยาคุมกำเนิดตั้งแต่ในวัยรุ่น หรือกลุ่มที่ใช้ยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงจากฮอร์โมนมากขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ความเสี่ยงจะลดลงเมื่อหยุดกิน

อาการและสัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม

1.คลำพบก้อนที่เต้านม

2.มีเลือดหรือน้ำ ไหลออกมาจากหัวนม โดยเฉพาะการที่ไหลออกมา โดยที่ไม่ได้บีบ

3.หัวนมบอด ที่เพิ่งเกิดขึ้นในภายหลัง

4.การเปลี่ยนแปลงบริเวณผิวหนังเต้านม อาทิ มีตุ่มแข็ง ผิวหนังนูน มีรอยผิวหนังบุ๋มลง มีก้อนเนื้อในเต้านม มีแผลเรื้อรังหรือผื่นที่หัวนมและลานหัวนม

5.เต้านมบวมแดง และอักเสบเรื้อรัง

การตรวจเต้านมด้วยตนเองเพื่อเช็กมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น

1.การคลำในแนวก้นหอย โดยเริ่มจากคลำส่วนบนของเต้านมตามแนวก้นหอยไปจนถึงฐานนมบริเวณรอบรักแร้

2.การคลำในแนวรูปลิ่ม เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านม จนถึงฐานแล้วกลับขึ้นสู่ยอดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งเต้านม

3.การคลำในแนวขึ้นลงจากใต้เต้านม เริ่มคลำจากใต้เต้านมจนถึงกระดูกไหปลาร้า แล้วขยับนิ้วทั้งสามนิ้ว คลำในแนวขึ้นและลงสลับกันไปเรื่อย ๆ จนทั่วทั้งเต้านม

โดยช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ หลังจากหมดประจำเดือนประมาณ 7 – 10 วัน เพราะเป็นระยะที่เต้านมไม่บวมและนิ่มซึ่งจะทำให้ตรวจได้ง่าย และสำหรับผู้หญิงที่หมดประจำเดือน ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง

ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลศิครินทร์

ขอบคุณที่มา sikarin, paolohospital, samitivejhospitals

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน