หญิงเคยเป็นกรดไหลย้อน ไม่ปรับพฤติกรรมการบริโภค จู่ ๆ เสียงแหบ 3 อาทิตย์ก็ไม่หาย ช็อกเป็นมะเร็งหลอดอาหาร

อีทีทูเดย์รายงานถึง อาการป่วยของหญิงรายหนึ่งที่สันนิษฐานว่าตนเองมีเสียงแหบเพียงเพราะว่าสูบบุหรี่หรือดื่มมากเกินไป แต่เมื่อแพทย์ทำการวินิจฉัยรอบที่ 2 แทบช็อก ป่วยเป็นมะเร็งหลอดอาหาร

น.พ.เฉิน หลงเจียน ศัลยแพทย์ออกมาเผยเคสทางการแพทย์ในรายการ 醫師好辣 โดยหญิงวัย 50 ปี ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว ต้องเข้าสังคมบ่อย ๆ ทำให้มักรับประทานอาหารผิดเวลา ชื่นชอบทานแตงกวาดอง มีการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานหนัก รวมถึงมีพฤติกรรมมักสูบบุหรี่และดื่มสุราเป็นประจำ

ก่อนหน้านี้ เธอมีอาการกรดไหลย้อนและมีการอักเสบบริเวณกระเพาะอาหารอักเสบและลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งเมื่อรักษาหายแล้ว เธอไม่ได้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ล่าสุด เธอเกิดอาการเสียงแหบและหลังจากผ่านไป 3 สัปดาห์อาการไม่ดีขึ้นเลยสักนิด ทำให้เธอรู้สึกตกใจมากว่ามีบางอย่างผิดปกติกับร่างกายหรือไม่ เธอจึงตัดสินใจไปพบแพทย์ เมื่อแพทย์ทำการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารอีกครั้งพบว่าเธอเป็นมะเร็งหลอดอาหาร

ภาพจาก 醫師好辣

หากคุณเกิดความสงสัยว่า ทำไมกรดไหลย้อนซ้ำแล้วซ้ำอีกจึงพัฒนาเป็นมะเร็งหลอดอาหาร นพ.เฉิน หลงเจียน อธิบายว่า โรคกรดไหลย้อนเป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร

เมื่อเกิดกรดไหลย้อนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างและเกิดการหย่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เซลส์บริเวณเยื่อบุผิวมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลส์มะเร็งได้ นอกจากนี้ นพ.เฉินหลงเจียนยังเตือนว่า เมื่อมีอาการบางอย่างในร่างกายก็เป็นการเตือนสุขภาพและไม่ควรละเลยและปัญหาสามารถพบได้โดยการไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

ทางด้านนพ.หวู่ เหวินเจี๋ย แพทย์ตับและทางเดินอาหาร ชี้ให้เห็นว่ามะเร็งหลอดอาหารแทบไม่มีอาการพิเศษใด ๆ ในระยะเริ่มต้น และภัยเงียบรายนี้เรียกอีกอย่างว่า “การกินมะเร็ง” เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร

แพทย์ระบุบุคคลที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหาร ได้แก่ ผู้ที่สูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์, ชอบรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูป, ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่มีอาการกำเริบบ่อยครั้ง รวมถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี เป็นต้น โดยผู้ชายมักจะมีแนวโน้มเป็นมะเร็งหลอดอาหารมากกว่าเพศหญิงถึง 10 เท่า

นพ.หวู่ เหวินเจี๋ย ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีความผิดปกติของการหดตัวของกล้ามเนื้อในหลอดอาหาร (peristalsis) ยืดเวลาในการย่อยอาหารอยู่ในหลอดอาหารและภาวะกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างไม่คลายตัว (Achalasia) ทำให้เยื่อเมือกของหลอดอาหารถูกกระตุ้นและอักเสบซ้ำ ๆ จนเกิดเซลล์มะเร็ง

นอกจากนี้ ผู้ที่หลอดอาหารได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง เช่น บริโภคของเหลวที่มีฤทธิ์กัดกร่อน รวมทั้งยาฆ่าแมลง เป็นต้น ทำให้เกิดแผลไหม้ในหลอดอาหาร แม้จะได้รับการรักษาหายขาดแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีความเสี่ยงของมะเร็งหลอดอาหารยังสูงกว่าคนทั่วไป

นพ.หวู่ เหวินเจี๋ย กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ชอบทานอาหารร้อน เครื่องดื่มร้อนจัด และอาหารดอง โดยพื้นฐานแล้ว ตราบใดที่เมื่อทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางอย่างแล้วรู้สึกลวกลิ้น มันจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหลอดอาหาร ส่วนไนตรัส กรดที่เติมในอาหารดองเป็นสารก่อมะเร็ง ยกตัวอย่างเคสของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่ทานข้าวกับแตงดองและผักดองเป็นเวลา 3 มื้อ แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา แต่ก็ยังเป็นมะเร็งหลอดอาหาร

หากใครมีประวัติของอาการกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) นพ.หวู่ เหวินเจี๋ยแจงเพิ่มเติมว่า อาการของกรดไหลย้อนจะนำไปสู่การก่อตัวของมะเร็งหลอดอาหาร เพราะทำให้เยื่อบุหลอดอาหารอักเสบซ้ำ ๆ

จากจุดเริ่มต้นจะเกิดเฉพาะกรดไหลย้อน ตามด้วยการอักเสบของหลอดอาหาร และจากนั้นพัฒนาเป็นภาวะหลอดอาหารบาร์เรตต์ (Barrett’s Esophagus) ที่เกิดการเรียงตัวและรูปร่างของเซลล์บริเวณผนังหลอดอาหารส่วนที่ติดกับกระเพาะอาหารผิดปกติไป ในบางกรณี ผู้ที่ป่วยเป็นภาวะนี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้ ซึ่งสูงกว่าคนทั่วไปถึง 40 เท่า

อย่างไรก็ตาม หากใครกังวลหรือสงสัยอาการป่วยของมะเร็งหลอดอาหาร ทางทีมข่าวสดได้การวมรวมคำตอบมาให้ ดังนี้

พบแพทย์รายงาน สาเหตุของมะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal Cancer) ยังไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด แต่อาจเป็นความผิดปกติหรือการกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรม (DNA) บริเวณหลอดอาหาร ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย จนทำให้ดีเอ็นเอได้รับความเสียหาย เจริญเติบโตผิดปกติ และกลายเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งในที่สุด

อาการของมะเร็งหลอดอาหาร มักไม่แสดงอาการในระยะแรก ๆ ส่วนมากจะทราบว่าเป็นมะเร็งหลอดอาหารเมื่อเริ่มป่วยหนักขึ้น ซึ่งอาจเป็นระยะที่ยากต่อการรักษา โดยอาการสำคัญของมะเร็งหลอดอาหารที่พบได้ทั่วไป คือ กลืนลำบาก ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหมือนมีอาหารติดอยู่ที่คอหรือบริเวณหน้าอก ในช่วงนี้ผู้ป่วยอาจมีน้ำมูกเหนียวหรือมีน้ำลายมาก เพราะเป็นกระบวนการที่ร่างกายผลิตน้ำลายออกมาในปริมาณมาก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการลำเลียงอาหาร

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • เจ็บหน้าอก รวมถึงรู้สึกอึดอัด ไม่สบาย รู้สึกได้ถึงแรงกด หรือแสบร้อนบริเวณหน้าอก
  • น้ำหนักลดลง เป็นผลมาจากปัญหาการกลืนอาหาร และอาจทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร
  • เสียงแหบ
  • ไอเรื้อรัง
  • อาเจียน
  • สะอึก
  • อุจจาระเป็นสีดำ เนื่องจากมีเลือดออกที่หลอดอาหารแล้วไหลลงไปตามทางเดินอาหาร หากเลือดออกมากเกินไป อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย และนำไปสู่ภาวะโลหิตจางได้

อาการดังกล่าวอาจไม่ใช่สัญญาณของมะเร็งหลอดอาหารเสมอไป แต่หากรู้สึกกังวลใจหรือพบว่ามีอาการข้างต้น โดยเฉพาะกลืนลำบากบ่อยครั้ง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

การป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร

  • ไม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อีกมากมาย หากทั้งสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งหลอดอาหารมากขึ้น จึงไม่ควรสูบบุหรี่ หรือเลิกสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพที่ดี
  • งดหรือควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ หากเป็นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ ควรดื่มในปริมาณที่พอดี การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้มากขึ้น
  • ควบคุมน้ำหนัก และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ น้ำหนักตัวเกินหรือภาวะอ้วนอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคนี้ หากสามารถควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และรับประทานจำพวกผักผลไม้ อาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้
  • รักษาโรคกรดไหลย้อน หรือภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหารเพิ่มขึ้น จึงควรรักษาและควบคุมอาการป่วยให้ดี ซึ่งทำได้ด้วยการรับประทานยา หรือเข้ารับการผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์

ขอบคุณที่มาจาก Ettoday Pobpad

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน