แพทย์เตือน! สูดควันเทียนหอมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก เสี่ยงเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ระวังได้มะเร็งเป็นของแถม พร้อมแนะนำวิธีเทียนหอมเพื่อผ่อนคลายแบบไหนดี

ความหอมฟุ้งอโรมาของเทียมหอมจะช่วยสร้างบรรยากาศผ่อนคลายอบอวลไปทั่วบ้านพร้อมปรับอารมณ์ให้รู้สึกดีขึ้น แต่รู้หรือไม่การสูดกลิ่นควันมากเกินไปอาจเป็นอันตรายมากกว่าที่คิด เดอะซัน รายงาน แพทย์ด้านเคมีกล่าวว่าผู้คนควร “ระมัดระวัง” กับความถี่ในการจุดเทียน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดอันตรายได้

ดร.แดน กูเบลอร์ แพทย์และศาสตราจารย์เคมี เปิดเผยความรู้ผ่านทางติ๊กต็อกจนกลายเป็นกระแสไวรัลว่า เทียนเป็นรูปแบบหนึ่งของมลพิษในร่มที่ผู้คนมักไม่นึกถึง ซึ่งการสูดลมหายใจนำควันเทียนเข้าสู่ร่างกายไม่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากการเผาไหม้ของเทียนที่ทำจากพาราฟินจะปล่อยเขม่าออกมา มีการคาดการณ์ว่า เขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้ของเทียนนั้นจะคล้ายกับเขม่าที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ดีเซล

พร้อมเตือนว่า มีผลการศึกษาจากคลินิกและองค์กรต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจุดเทียนในร่มบ่อยครั้งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง รวมถึงการยับยั้งความสามารถของเซลล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระเพาะปัสสาวะที่จะเติบโตตามปกติ

“เทียนทำมาจากขี้ผึ้งพาราฟินราคาถูก ทำจากน้ำหอมและสีย้อมเทียม เมื่อเราเผาไหม้ มันจะปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์, คาร์บอนไดออกไซด์, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, เบนโซไพรีน, โทลูอีน และสารประกอบระเหยอื่น ๆ ซึ่งไม่ดีต่อร่างกาย เช่น รบกวนความสามารถของร่างกายในการสืบพันธุ์ ดังนั้น จงระวัง หากคุณกำลังจุดเทียนเป็นครั้งคราวในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี เป็นสิ่งที่ไม่น่ากังวล แต่การเผาไหม้ต่อเนื่องจนเกิดควันอบอวลอาจเป็นเรื่องใหญ่”

แม้ว่าไม่มีหลักฐานโดยตรงว่าการใช้เทียนไขสามารถทำให้เกิดโรคได้ ถึงกระนั้น ทีมวิจัยจำนวนมากได้ตั้งทฤษฎีว่าควันพิษที่เกิดจากขี้ผึ้งและไส้ตะเกียงอาจเป็นอันตรายในระยะยาว ผลการศึกษาบางชิ้นพบว่าขี้ผึ้งพาราฟินหรือพาราฟิน แว็กซ์ ที่เป็นขี้ผึ้งประเภทนี้ผลิตจากปิโตรเลียมหรือผลพลอยได้จากการทำน้ำมันเบนซิน เมื่อเผาไหม้จะปล่อยสารระเหย เช่น โทลูอีน

ดร.แดน กูเบลอร์กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้เตือนว่าการจุดเทียนหอมบ่อยครั้งเป็นเวลาหลายปีและใช้ในห้องที่อากาศถ่ายเทไม่ดีในระยะยาวอาจนำไปสู่มะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนโต้แย้งว่าปริมาณสารระเหยที่ปล่อยออกมาจากเทียนมีน้อยจนไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ ดังนั้น การใช้เทียนหอมเป็นครั้งคราวไม่น่าจะก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง

ดร.รูฮุลละห์ มัสซูดี นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซาท์แคโรไลนา อ้างในการศึกษาปี 2009 ว่าการได้รับควันจากขี้ผึ้งพาราฟิน (parafin) เป็นเวลานานหลายปีอาจพัฒนาความเสี่ยงต่อสุขภาพนำไปสู่มะเร็ง ภูมิแพ้ และโรคหอบหืด

ฮัลโหลคุณหมอกล่าวว่า การเผาไหม้ของเทียนหอมเพื่อผ่อนคลายนั้น จะปล่อยสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยได้ เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ แม้ว่าเทียนหอมจะปล่อยสารประกอบเหล่านี้ออกมา แต่ก็ยังไม่มีการชี้ที่แน่ชัดว่ามันจะส่งผลต่อสุขภาพหรือไม่ แต่ทั้งนี้บางคนอาจจะมีอาการแพ้เทียนหอม ซึ่งอาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจาม อาการน้ำมูกไหล และการอุดตันของไซนัส (Sinus)

การศึกษาในปี 2550 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก European Candle Association (ECA) ได้ตรวจสอบไขเทียนหลัก ๆ ทุกประเภท เพื่อตรวจหาสารเคมีที่เป็นพิษ 300 ชนิด นักวิจัยพบว่า ระดับของสารเคมีที่ปล่อยออกมาจากเทียนแต่ละประเภทนั้นมีปริมาณสารเคมีต่ำกว่าระดับที่จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้

ดังนั้น หากใครกังวลต่อปัญหาสุขภาพ แต่ยังรักกลิ่นหอมอโรมาของเทียนหอม ขอแนะนำให้ลองใช้เทียนที่ทำจากไขขี้ผึ้ง ไขถั่วเหลือง ไขจากปาล์ม ไขจากมะพร้าว ไขจากพืชอื่น ๆ รวมถึงเทียนหอมออร์แกนิกและใช้โคมไฟเทียนหอมเพื่อละลายเทียนโดยเฉพาะแทน

เพื่อลดปริมาณการสูดดมควันที่เกิดจากเทียนควรจุดเทียนในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ลดการเป่าเทียนในการดับ และพยายามเก็บไว้ให้ห่างจากบริเวณที่สามารถเพิ่มปริมาณควัน

ขอบคุณที่มาจาก The Sun Hellokhunmor Healthline

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน