ชวนรู้จัก Alprazolam ‘ยาเสียสาว’ ออกฤทธิ์เร็ว ส่งผลต่อจิต หลงลืม กระตุ้นประสาท แพทย์ใช้รักษา คนไม่ดีใช้ในทางผิด

ความคืบหน้าคดีดาราสาวแตงโม ผลการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างเลือดโดยวิธี Gas Chromatography ตรวจไม่พบแอลกอฮอล์แต่อย่างใด แต่พบสารเสพติดของพยานบุคคลบนเรือจำนวน 1 ราย เป็นสารกลุ่มเบนโซไดอาซิปินส์ ชนิด Alprazolam หรือที่สื่อหลายแห่งเรียกว่า ‘ยาเสียตัว’

ข้อมูลจากกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รายงาน ‘ยาอัลปราโซแลม’ (Alprazolam) เป็นยากลุ่ม Benzodiazepine ที่ออกฤทธิ์สั้นหรือนานปานกลาง เช่นเดียวกับ lorazepam มีชื่อทางการค้า เช่น zolam® , xanax® เป็นต้น ซึ่งเป็นสารประกอบที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า

ฮัลโหลคุณหมอ รายงาน ยาอัลปราโซแลมส่งผลต่อสมอง และระบบประสาทส่วนกลาง พร้อมกระตุ้นสารสื่อประสาทออกมา ที่เรียกว่า กาบา (GABA) ร่วม เพื่อให้สมองมีการทำงานที่ช้า หรือสงบลง ลดอาการวิตกกังวลจากการทำงานหนักของระบบประสาท

ในประเทศไทยจัดยาอัลปราโซแลมเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 4 ซึ่งต้องได้รับการจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องจากมีฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาทส่วนกลางในสมองและออกฤทธิ์เร็วหลังจากรับประทานไปประมาณ 20 นาที ส่งผลให้เป็นดาบสองคม มีการนำยาชนิดนี้ไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด เช่น ก่ออาชญากรรม หรือล่วงละเมิดทางเพศ ดังที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ว่า ยาเสียตัว

ทางการแพทย์ใช้ ยาอัลปราโซแลม สำหรับรักษาอาการวิตกกังวล แพนิก คลายกล้ามเนื้อ ระงับอาการชัก ภาวะซึมเศร้า ติดสุราเรื้อรัง และช่วยให้นอนหลับ มีการดูดซึมยา ( t max) ภายใน 1 – 2 ชั่วโมง จับกับโปรตีนในพลาสมาได้ 67 – 72 % และมีค่าครึ่งชีวิต 11.1 – 19 ชั่วโมง

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่น ๆ ที่พบ เช่น คลายกล้ามเนื้อลาย (muscle relaxants) ต้านอาการชัก (antiepileptics) ทำให้สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ (anterograde amnesia) ความสามารถในการเรียนรู้ และความจำลดลง สมรรถภาพในการทำงานที่ต้องใช้ความชำนาญ หรือการตัดสินใจฉับพลันเสื่อมลง

การติดยา การใช้ยากลุ่ม Benzodiazepines ในขนาดสูงติดต่อกันเป็นประจำหรือใช้ในขนาดยาที่สูง จะทำให้เกิดการติดยาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งหากหยุดยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้, นอนไม่หลับ, มือสั่น, หัวใจเต้นเร็ว, ซึมเศร้า, เป็นโรคจิต หรืออาจถึงกับชักได้

ผลข้างเคียงของการใช้ยาอัลปราโซแลม ได้แก่ ง่วงซึม, วิงเวียน, รู้สึกเหนื่อยหรือระคายเคือง, มองเห็นไม่ชัด, ปวดหัว, ความทรงจำมีปัญหา, นอนไม่หลับ, บวมที่มือหรือเท้า, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, ขาดการทรงตัว, ปวดท้อง, คลื่นไส้, อาเจียน, ท้องผูก, ท้องเสีย, เหงื่อออกมากขึ้น, ปากแห้ง, จมูกอุดตัน, น้ำหนักหรือความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง และสูญเสียความสนใจเรื่องเซ็กซ์

ในบางทีอาจส่งผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น มีอารมณ์หดหู่, ทำร้ายตัวเอง, ไม่รู้สึกกลัวอันตราย,
สับสน, อยู่ไม่สุข, เห็นภาพหลอน, ปวดหน้าอก, ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้, สั่นเทา, ชัก รวมถึงดีซ่าน

คำเตือนหรือข้อควรระวัง

  • ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือ ในที่สูง เพราะยาอาจทำให้ง่วงซึม
  • ห้ามดื่มสุรา หรือสิ่งที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ เพราะส่งผลให้เกิดการกดประสาทมากขึ้น
  • อาจเกิดผลตรงข้ามกับฤทธิ์ของยาที่ให้ (paradoxical reaction)
  • อาจทำให้เกิดความผิดปกติของเม็ดเลือด ตับ หรือไตได้
  • สตรีมีครรภ์ สตรีระยะให้นมบุตร โรคต้อหิน โรคไมแอส ตีเนียแกรวีส (myasthenia gravis) โรคพอร์ไฟเรีย (porphyria) หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
  • ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากแพทย์สั่ง
  • หากใช้ร่วมกับยาอื่น เช่นยากดหรือกระตุ้นประสาท ยาคุมกำเนิด ยาต้านฮิสตามีน รวมทั้ง cimetidine ควรปรึกษาแพทย์
  • หากมีอาการนอนไม่หลับ ประสาทหลอน พฤติกรรมผิดปกติ กล้ามเนื้อเปลี้ย หรือมีไข้ ควรหยุดใช้ยาทันทีและรีบปรึกษาแพทย์

การกำกับดูแลตามกฎหมาย เดิมยานี้จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 แต่ จากการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 ซึ่งยกระดับการควบคุมอัลปราโซแลม (alprazolam) จากวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2

ปัจจุบันมีการควบคุมการใช้ยาอัลปราโซแลมอย่างเข้มงวด ควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ทั้งนี้เพื่อป้องกันการใช้ยาในทางที่ผิด ซึ่งหากอยู่ในมือของแพทย์ก็จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อชีวิตมนุษย์ แต่หากอยู่ในมือของผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากผู้อื่นในทางมิชอบ ก็จะกลายเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เช่นกัน

ขอบคุณที่มาจาก กองควบคุมวัตถุเสพติด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ฮัลโหลคุณหมอ พบแพทย์

ข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน