คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของท่านประยุทธ์ ปยุตโต เสมา หรือสีมา หมายถึงเขตกำหนดความพร้อมเพรียงของสงฆ์ หรือเขตที่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ในพื้นที่เขตนั้นจะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน

เสมา หรือ สีมา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

พัทธสีมา แปลว่า แดนที่ผูก ได้แก่เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง

อพัทธ สีมา แปลว่า แดนที่ไม่ได้ผูก ได้แก่ เขตที่ทางราช การกำหนดไว้ หรือเขตที่เกิดตามธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนด และสงฆ์ถือเอาตามเขตที่กำหนดนั้น ไม่ได้ทำหรือผูกขึ้นใหม่

การที่ต้องมีสีมา เป็นเครื่องกำหนดเขตชุมชนของสงฆ์นี้ เนื่อง จากพระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดให้ภิกษุต้องทำอุโบสถ ปวารณาและสังฆกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะการสวดปาฏิโมกข์ ซึ่งต้องสวดพร้อมกัน เดือนละ 2 ครั้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ โดยให้มีเขตที่มีเครื่อง หมายเป็นที่ทราบกัน เรียกว่า สีมา และสีมาตามพระวินัยต้องมีความบริบูรณ์ตามที่กำหนดจึงจะใช้ได้

หากไม่เป็นตามที่กำหนดถือว่าเป็นสีมาวิบัติใช้ไม่ได้ การทำสังฆกรรมต่างๆ ภายในสีมาวิบัติ ถือว่าเป็นโมฆะ ข้อกำหนดของสีมาที่สมบูรณ์คือ ต้องมีขนาดใหญ่พอที่พระสงฆ์ 21 รูป เข้าไปนั่งหัตถบาสได้

จากการเสวนาเรื่องพุทธเถรวาทจากเสมาหิน โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เล่าในตอนหนึ่งว่า ไม่พบหลักเสมารอบโบสถ์ทั้งในอินเดียและลังกา เสมาจึงน่าเป็นพัฒนา การขึ้นในประเทศไทย และยังให้ข้อคิดต่อไปว่า คติการปักใบเสมาในเขตภาคอีสานเป็นคติที่สืบ ทอดมาจากประเพณี การปักหินตั้ง ซึ่งเป็นระบบความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษ จนกระทั่งมีการรับพระพุทธศาสนาเข้ามาจึงมีการปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นใบเสมา เพื่อกำหนดเขตในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

รูปแบบของเสมามี 3 แบบ ที่พวกเราเห็นเป็นส่วนใหญ่ เป็นแบบแผ่นหินที่มีรูปคล้ายใบบัวปักอยู่รอบอุโบสถ 8 แท่ง หรือติดอยู่ที่ผนังโบสถ์ สัญลักษณ์ของกลีบดอกบัว คือสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์

ดังนั้นใบเสมา 8 ใบ ที่ล้อมรอบอุโบสถ จึงเป็นคติที่บอกถึงแนวเขตบริสุทธิ์ภายใต้การปฏิบัติอันมีมรรค 8 เป็นฐาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน