“รายงานพิเศษ”

ขณะนี้มีผู้ป่วยในไทยจำนวนมากที่ไม่สามารถรักษาใดๆ ได้ นอกจากการรอคอยอวัยวะที่มีผู้บริจาคให้ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ในปีนี้ตัวเลข ผู้บริจาคอวัยวะพุ่งสูงขึ้นมากกว่าปีก่อนๆ โดยในปี 2558 มีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ 46,640 ราย, ปี 2559 มี 55,881 ราย และล่าสุดปี 2560 ตัวเลขพุ่งสูงถึง 82,104 ราย

สถิติผู้บริจาคอวัยวะตั้งแต่ 1 ก.พ. 2537-30 พ.ย. 2560 รวม 933,795 ราย

ขณะที่มีผู้ลงทะเบียนรอรับอวัยวะกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ณ วันที่ 30 พ.ย. 2560 รวมทุกอวัยวะ 5,816 ราย

แม้จะมีตัวเลขผู้บริจาคเพิ่มขึ้นในทุกปี แต่ในแต่ละปีนั้นตัวเลขผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่นั้นมีเพียงหลักร้อยเท่านั้น

นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ตัวเลขผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะมีจำนวนเป็นแค่เลขหลักร้อย เนื่องจากการปลูกถ่ายอวัยวะนั้นมีหลักเกณฑ์อยู่มาก จึงจะสามารถนำอวัยวะจากผู้บริจาคมาให้ผู้รอคอยอวัยวะได้

“หนึ่งเลยคืออวัยวะที่ได้ต้องมาจากผู้ป่วยที่ “สมองตาย” เท่านั้น เราจึงมีคำพูดที่ว่า การบริจาคอวัยวะไม่ทำให้เขาตาย แต่การตายของเค้าก็ก่อให้การบริจาค” นพ.วิศิษฏ์กล่าว

นพ.วิศิษฏ์กล่าวอีกว่า เมื่อคนไข้บาดเจ็บมาแพทย์มีหน้าที่รักษาให้ถึงที่สุด เพื่อให้หายจากอาการที่เป็นอยู่ แต่เมื่อรักษาจนสุดหนทางแล้ว สมองตายจึงจะสามารถก่อให้เกิดการบริจาคอวัยวะได้ การที่สมองจะตายได้นั้นอาจเกิดจากสาเหตุ

เช่น สมองได้รับอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บที่สมอง เส้นเลือดในสมองตีบ หรืออื่นๆ แพทย์จะมีหลักเกณฑ์อยู่ว่าอาการเป็นอย่างไรจึงจะสรุปได้ว่าอยู่ในภาวะสมองตาย คนไข้จะอยู่ได้โดยการใช้เครื่องช่วยหายใจ เลือดจะไปเลี้ยงทุกส่วน แต่ไม่ไปเลี้ยงที่สมอง และเมื่อถอดเครื่องช่วยหายใจออก คนไข้ก็จะจากไป เป็นหน้าที่ที่สำคัญของแพทย์ที่ต้องอธิบายให้ญาติคนไข้ฟังให้เข้าใจว่า คนไข้นั้นได้สมองตายแล้ว หมดโอกาสที่จะฟื้นคืนชีวิต อยู่ได้ด้วยเพียงเครื่องช่วยหายใจเท่านั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่ญาติจะทำใจยอมรับได้

“ดังนั้นเมื่อผู้ใดได้บริจาคอวัยวะแล้วควรอธิบายให้ญาติได้รับรู้เรื่องดังกล่าวด้วย เผื่อวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดคิดขึ้นญาติจะได้มีความเข้าใจอยู่แล้วส่วนหนึ่ง” นพ.วิศิษฏ์กล่าว

นพ.วิศิษฏ์กล่าวด้วยว่า การจะมีผู้บริจาคอวัยวะแล้วเสียชีวิตโดยสมองตายนั้นเป็นเรื่องยากมาก จึงทำให้ตัวเลขผู้ได้รับบริจาคจริงๆ มีน้อยมาก แต่เพราะเราไม่ล่วงรู้อนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้นหากมีจิตใจเป็นกุศลคิดจะช่วยเหลือต่อชีวิตให้ผู้อื่น การตัดสินใจเซ็นบริจาคอวัยวะไว้ก็เป็นเรื่องที่ดี

การจะบริจาคอวัยวะขณะนี้ทำได้โดยง่ายมากด้วยหลายช่องทาง ทั้งการเดินทางมาบริจาคที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 บริจาคผ่านเว็บไซต์ http://www.organdonate.in.th/ หรือบริจาคผ่านเหล่ากาชาดจังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภอทั่วประเทศ

นอกจากนั้นขณะนี้ยังเริ่มมีการสอบถามเมื่อประชาชนเดินทางไปทำบัตรประชาชน ว่า จะบริจาคอวัยวะหรือดวงตาหรือไม่ เมื่อกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มก็จะบันทึกข้อมูลลงในไมโครชิพของบัตรประจำตัวประชาชน

นพ.วิศิษฏ์กล่าวอีกว่า การบริจาคอวัยวะจะมีให้ เลือกว่าจะบริจาคอะไรบ้าง แยกเป็นอวัยวะต่างๆ เช่น ไต หัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน หรือเลือกบริจาคทุกอย่างที่ใช้ประโยชน์ได้ การเลือกบริจาคทุกอย่างดีตรงที่ในอนาคตเราอาจจะสามารถบริจาคอวัยวะอื่นๆ ได้อีกนอกเหนือจากนี้ เช่นปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่ทางเราเริ่มเก็บเนื้อเยื่อจาก ผู้บริจาคอวัยวะ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยที่เจ็บป่วยจากแผล ไฟไหม้จำนวนมาก สามารถช่วยผู้ป่วยได้มากมาย

นพ.วิศิษฏ์กล่าวด้วยว่า ข้อจำกัดในการบริจาคนั้นคือ ผู้บริจาคจะต้องปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายต้องทำงานได้ดี ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ ส่วนอายุนั้นไม่ได้มีการกำหนดไว้

สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างคือ เมื่อบริจาคอวัยวะแล้วควรแจ้งญาติพี่น้องให้ทราบ และพกบัตรผู้บริจาคติดตัวไว้ตลอด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน