รู้หรือไม่ ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจาก ‘บุหรี่’ เกือบ 5,000,000 คน ในขณะเดียวกันก็มีเด็กกว่า 65,000 คน ต้องเสียชีวิตก่อนอายุ 5 ขวบ โดยมีสาเหตุมาจากการได้รับควันบุหรี่มือ 2

หลายปีที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงทำงานอย่างหนัก ในการรณรงค์ ให้ความรู้ รวมถึงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่มาตลอด เพื่อให้นักสูบหน้าเก่าและหน้าใหม่ตระหนักถึงผลร้าย และอันตรายที่เกิดจากควันบุหรี่มือ 2 และมือ 3

ยิ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่ครอบครัวส่วนใหญ่อยู่กันพร้อมหน้า ควันบุหรี่ที่หนึ่งคนสูบ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของหลายคนได้ สสส. จึงจัดเวทีเสวนา ‘กลับบ้านปีใหม่ ไร้ควันบุหรี่’ ขึ้น ที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา ให้ทุกคนเห็นถึงภัยของบุหรี่ที่กระทบสังคมได้มากกว่าที่คิด

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. เล่าถึงการทำงานเรื่องบุหรี่ในชุมชนว่า สสส. เชื่อว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกหลานตนเองเสียชีวิตจากควันบุหรี่ ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในบ้าน ไม่ว่าจะตามโซฟา ผ้าม่าน ตลอดจนอากาศที่ใช้หายใจ

สสส. จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องโทษและพิษของควันบุหรี่มือ 2 มือ 3 ตามครอบครัวและชุมชนต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศนโยบายหรือมาตรการ ที่จะช่วยให้ชุมชนปลอดควันบุหรี่ ไม่เพียงเท่านั้น สสส. ยังเข้าไปทำงานกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เน้นปลูกฝังเรื่องบุหรี่ผ่านกิจกรรมเชิงบวก ควบคู่ไปกับการพูดคุยและทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย

“ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บุหรี่เป็นสิ่งเสพติด ที่มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด ทั้งยังมีสารพิษ อย่าง ‘นิโคติน’ ที่มีฤทธิ์กับระบบประสาทอยู่มาก ซึ่งผลกระทบที่เด่นชัดอย่างหนึ่งของนิโคติน คือ ทำให้เกิดอาการเสพติด จะเห็นว่า แม้บางคนแค่ลองสูบเล่นๆ แต่สุดท้ายติดจริง เมื่ออยากเลิกจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ทั้งความกล้าและกำลังใจอย่างมาก

“หลายคนที่สามารถเลิกบุหรี่สำเร็จ ก็เพราะได้ความรัก ความเข้าใจ จากลูกและครอบครัวเป็นแรงผลักดันนั่นเอง ตรงนี้แหละที่ สสส. อยากนำมาทำเป็นโมเดลให้คนเลิกสูบบุหรี่ โดยใช้พลังของคนในครอบครัวมาสร้างการเปลี่ยนแปลง” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. อธิบายถึงพลังของสมาชิกในครอบครัว ที่ช่วยให้ผู้สูบเลิกบุหรี่ได้

และเนื่องในเทศกาลวันปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง น.ส.รุ่งอรุณ จึงขอเป็นตัวแทน สสส. เชิญชวนผู้ที่สูบบุหรี่ให้ใช้ช่วงเวลาปีใหม่ ตั้งปณิธานในการเลิกบุหรี่ เพื่อเป็นของขวัญแทนความห่วงใยให้ตัวเองและครอบครัวที่คุณรัก พร้อมแนะนำว่า หากผู้ที่สูบบุหรี่ต้องการความช่วยเหลือในการเลิกบุหรี่ สามารถโทร. ขอคำปรึกษาได้ฟรี ที่สายเลิกบุหรี่ 1600

รศ.ดร.สุริยเดว ทรีปาตี

ด้าน รศ.ดร.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม อธิบายถึงผลกระทบของควันบุหรี่มือ 2 มือ 3 ต่อเด็กและคนในครอบครัวว่า ควันบุหรี่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์อย่างมาก เพราะในควันบุหรี่มือ 2 มือ 3 มีสารนิโคติน ที่มีอนุภาคเล็กกว่า 5 ไมครอน หมายความว่า เมื่อแม่ที่ตั้งครรภ์สูดควันบุหรี่เข้าไป นิโคตินที่มีอนุภาคขนาดเล็กมากเหล่านั้น จะสามารถวิ่งเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลต่อยีนโน้มนำในต่อมเพศของทารกในครรภ์มารดา

เมื่อทารกเติบโตขึ้นจนแต่งงานมีลูก ลูกก็จะมียีนโน้มนำสารเสพติด ทำให้เสพติดได้ง่าย ฉะนั้น ถ้าไม่อยากส่งต่อโรคทางพันธุกรรมให้ลูกหลานของเรากลายเป็นคนที่มียีนโน้มนำสารเสพติด ทุกคนต้องพยายามเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ เพราะเมื่อไม่สูบบุหรี่ ควันบุหรี่มือ 2 มือ 3 ก็ไม่เกิด

“ผมเข้าใจถึงความยากในการเลิกสูบบุหรี่ ด้วยฤทธิ์ของสารนิโคติน ที่หากไม่ได้สูบบุหรี่ ก็จะให้เกิดอาการกระสับกระส่าย ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย จนบางครั้งพาลไปใส่อารมณ์กับคนรอบข้าง

“ดังนั้น หัวใจสำคัญที่จะเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ นอกจากมีพี่เลี้ยงในระบบสาธารณสุข อย่างหมอ พยาบาล แล้ว พี่เลี้ยงทางบ้านอย่างครอบครัวก็ต้องคอยให้กำลังใจ ควบคู่ไปกับหากิจกรรมทำร่วมกัน เมื่อได้กำลังใจจากที่บ้าน บวกกับการควบคุมดูแลในทางการแพทย์ ในไม่ช้าทุกคนก็จะเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ” รศ.ดร.สุริยเดว บอก

นางอัญมณี บุญชื่อ

ขณะที่ นางอัญมณี บุญชื่อ หัวหน้าโครงการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง บุหรี่และสุรา (โครงการอาสา) สนับสนุนโดย สสส. พูดถึงพลังของเด็ก ที่สามารถช่วยให้พ่อแม่เลิกบุหรี่ได้ว่า จากที่ได้รับมอบหมายให้ทำโครงการพัฒนาจิตสำนึกฯ ทำให้ได้ทำงานใกล้ชิดกับเด็ก โรงเรียน และชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่า ‘ลูก’ คือแรงจูงใจชั้นดี ที่ช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองเลิกบุหรี่ได้ บวกกับงานวิจัยขององค์การอนามัยโลกที่บอกไว้ว่า การป้องกันการสูบบุหรี่และการดื่มสุราควรเริ่มปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์

เป็นที่มาให้โครงการพัฒนาจิตสำนึกฯ ออกแบบ 5 กิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้เด็กสามารถรับมือกับภัยบุหรี่ได้ ดังนี้ คือ ละครสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยบุหรี่, กิจกรรมวินิจฉัยความเป็นกลุ่มเสี่ยง ผ่านดราม่าเกม, กิจกรรมการจัดการความเครียดด้วยตนเองแทนการใช้บุหรี่, กิจกรรมดูแลตนเองอย่างสร้างสรรค์ และ กิจกรรมสร้างไอดอลเด็ก เพื่อให้เด็กเป็นกระบอกเสียงส่งไปยังผู้ปกครอง ถึงโทษและความรุนแรงของควันบุหรี่มือ 2 มือ 3

น้องออร์แกน หรือ ด.ญ.ปัญจรัตน์ กุลมา

เช่นเดียวกับพลังของ ‘น้องออร์แกน’ หรือ ด.ญ.ปัญจรัตน์ กุลมา อายุ 10 ขวบ ที่บอกเล่าประสบการณ์ในวันที่ขอให้พ่อเลิกบุหรี่ว่า เกิดมาก็เห็นคุณพ่อสูบบุหรี่แล้ว พอโตขึ้นมาตนก็เป็นโรคหอบ ส่วนคุณแม่ก็เป็นโรคภูมิแพ้ SLE เมื่อได้กลิ่นบุหรี่ก็จะมีอาการคัดจมูก ไอ ไปจนถึงคันตามตัว

“ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว จุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณพ่อเลิกสูบบุหรี่อย่างจริงจัง คือท่านเผลอตีหนู เพราะหงุดหงิดที่ไม่ได้ออกไปสูบบุหรี่ หนูจึงขอให้คุณพ่อเลิกสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพของทุกคนในบ้าน

“หลังจากนั้น คุณพ่อก็ตั้งใจเลิกอย่างจริงจัง จากที่ไม่ชอบออกกำลังกาย ก็หันมาออกกำลังมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนหงุดหงิดง่าย ก็กลายเป็นคนอารมณ์ดี แถมยังมีเวลาเล่นกับหนูเยอะขึ้น ที่สำคัญไม่มีกลิ่นบุหรี่มาทำให้หนูกับคุณแม่รำคาญใจด้วย” น้องออร์แกน เล่าด้วยรอยยิ้ม

แม้หลายคนจะมองว่าการเลิกสูบบุหรี่เป็นเรื่องยาก เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ทำซ้ำๆ มานานหลายปีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากมีความมุ่งมั่น และต้องการให้คนรอบตัวที่เรารักมีความสุขและสุขภาพดี ‘สังคมไร้ควันบุหรี่’ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน