คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

[email protected]

สวัสดีค่ะน้าชาติ อยากรู้ว่าประวัติโต๊ะหมู่บูชามีตั้งแต่เมื่อไหร่ ขอบคุณมากค่ะ

pensree

ตอบ pensree

เปิดหนังสือการจัดโต๊ะหมู่บูชา ของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ.2553 พบความว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์อธิบายว่า การจัดโต๊ะหมู่บูชาเริ่มมีมาแต่รัตนโกสินทร์ตอนต้น สืบเนื่องมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างม้าหมู่ขึ้นสำหรับตั้งเครื่องบูชาหน้าพระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งเป็นม้าหมู่ขนาดใหญ่ และม้าหมู่ขนาดน้อย ที่ตั้งประจำวิหารทิศ แต่ยังไม่มีโต๊ะตัวล่างที่เป็นฐานรองรับม้าหมู่ ซึ่งเป็นการจัดแปลงโต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีนมาเป็นอย่างไทย และต่อมามีผู้นิยมจัดโต๊ะเครื่องบูชาม้าหมู่เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และมีโต๊ะประกอบเป็นที่ตั้งเครื่องบูชาในการทำบุญโอกาสต่างๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์และของเจ้านายผู้ใหญ่ในสมัยนั้น

ช่วงระยะเวลาที่ถือว่าได้มีการพัฒนาเกี่ยวกับโต๊ะหมู่บูชามากที่สุดยุคหนึ่ง ก็คือ ในการจัดพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าภาษี นายอากร พ่อค้า จัดโต๊ะเครื่องบูชาเข้าไปตั้งเป็นเครื่องประดับ จำนวน 100 โต๊ะ เป็นปฐมเหตุความนิยมในการประกวดโต๊ะเครื่องบูชา ดังนั้น ในการบำเพ็ญกุศลคล้ายวันประสูติของพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านายผู้ใหญ่ หรืองานทำบุญวันคล้ายวันเกิดของผู้มีบรรดาศักดิ์ มักจะมีการประกวดโต๊ะหมู่บูชาและการจัดเครื่องบูชา เมื่อของผู้ใดดีก็จะมีรางวัลพระราชทานหรือมอบให้
2
เมื่อมีความนิยมการประกวดม้าหมู่ ก็ย่อมมีการดูแลรักษาเครื่องบูชาให้คงอยู่ครบชุด มีการจัดแปลงการสร้างม้าหมู่บูชาให้มีความวิจิตรสวยงาม เป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาและฝีมือเชิงช่างของนายช่างไทย ดังที่ได้พระนิพนธ์ไว้ตอนหนึ่งเกี่ยวกับข้อกำหนดการพิจารณาม้าหมู่หรือโต๊ะหมู่ของคณะผู้จัดการประกวดในสมัยนั้นข้อหนึ่ง คือ ‘ตัวม้าหมู่นั้นควรใช้ของทำประเทศนี้ ถ้ายิ่งฝีมือการทำประณีต และการจัดโต๊ะหมู่บูชาความคิดประกอบม้าสูงต่ำให้ได้ทรวดทรงงดงาม ก็ยิ่งถือเป็นการทำด้วยการมีความคิดริเริ่มจัดแปลงให้สวยงามเหมาะสมได้สัดส่วน ผู้เป็นเจ้าของโต๊ะหมู่ชุดนั้นก็เป็นผู้สมแก่รางวัล’

ที่เป็นดังนี้เพราะต้องการส่งเสริมให้ช่างไม้ไทยได้มีความคิดในการจัดแปลงและสร้างม้าหมู่อันเป็นการแสดงออกถึงศิลปะและฝีมือเชิงช่างของนายช่างไทยที่มีลักษณะอันอ่อนช้อยและสวยงาม เป็นการ แสดงให้เห็นวัฒนธรรมทางด้านศิลปะของสังคมไทยที่มีเอกลักษณ์ในการคิดลวดลายเป็นแบบเฉพาะของตนเอง และต่อมาก็มีการจัดสร้างโต๊ะตัวล่างเป็นฐานสำหรับรองรับม้าหมู่เพื่อให้มีความสะดวกในการจัดตั้ง เนื่องจากเมื่อนำม้าหมู่ไปจัดตั้งในสถานที่ทำบุญบางแห่งซึ่งมีพื้นที่ไม่เสมอกัน ก็จะต้องจัดหาวัสดุมารองรับที่ฐานของม้าหมู่แต่ละตัวให้มีความเสมอกันและสวยงามซึ่งทำได้ยาก เมื่อมีโต๊ะตัวล่างสำหรับตั้งเป็นฐานไว้รองรับกลุ่มโต๊ะหมู่หรือม้าหมู่แล้ว ทำให้ตั้งโต๊ะหมู่ได้ง่าย เกิดความเด่นและมีความสวยงามเพิ่มขึ้น ถือเป็นการพัฒนาด้านความคิดในการจัดสร้างโต๊ะหมู่ของนายช่างไม้ของไทย
3
การจัดโต๊ะหมู่บูชาถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันสำคัญประการหนึ่งของสังคมไทย ปฏิบัติสืบทอดและสืบสานกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น พระราช ประเพณี หรือพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือประเพณีต่างๆ ของสังคมไทย จึงจัดโต๊ะหมู่บูชาในการประกอบพิธี เป็นการแสดงออกถึงการบูชาต่อสิ่งอันเป็นที่เคารพสักการะสูงยิ่งตามที่บรรพบุรุษได้กระทำเป็นแบบอย่างไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน