เมื่อเร็วๆนี้ เกิดการรวมตัวของภาคเอกชน รัฐ และเครือข่ายสังคมด้านการศึกษาเข้าร่วมหารือ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น หลังจากที่ได้เข้าร่วมงานงานครบรอบ 22 ปี โครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด สร้างคน ส่งต่อนิเวศการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด เพื่อร่วมกันผลักดันความร่วมมือให้กับองค์กรต่างๆที่สำคัญของประเทศ ในการผลักดันการทำงานเพื่อสังคมด้านการศึกษา นำโดยคุณศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย ประธานโครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด และคุณสงวนศรี สุทธิพงษ์ชัย ประธานคณะดำเนินงานโครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด พร้อมตัวแทนภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรสำคัญด้านการพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชนระดับประเทศเข้าร่วม เพื่อหารือความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนากิจกรรมเพื่อสังคม
สาระสำคัญในการพูดคุยมุ่งไปที่การพัฒนาระบบการศึกษาของไทยให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์สถานการณ์สังคมไทย สังคมโลกให้มากขึ้น โดยในที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าสังคมไทยต้องให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาที่ไม่ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องช่วยกันอย่างจริงจัง เพราะคนคือทรัพยากรสำคัญของประเทศ
คุณสงวนศรี สุทธิพงษ์ชัย กล่าวว่าการพูดคุยในครั้งนี้ตรงกับเจตนารมณ์ของโครงการทุนฯ ที่ต้องการขยายผลความร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการทำงานด้านการพัฒนาศักยภาพครู ที่เป็นศิษย์เก่าและนักเรียนทุนปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการร่วมมือกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านการสนับสนุนโครงการก่อการครูใน 3พื้นที่ 4 นิเวศการเรียนรู้ ได้แก่ นิเวศการเรียนรู้ กาฬสินธุ์ และ นิเวศการเรียนรู้ มหา’ลัยไทบ้าน (จังหวัดขอนแก่นและเลย) และนิเวศการเรียนรู้อุดรธานี ส่วนการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานในวันนี้ถือเป็นการช่วยให้เกิดพื้นที่การไปสานต่อควมร่วมมือของแต่ละองค์กร
คุณสงวนศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า phaseต่อไปคือการพัฒนาบุคลากร ครู ให้กับนักเรียนทุนและศิษย์เก่าที่อยู่ในสายการศึกษา และสนับสนุนโครงการก่อการครูในพื้นที่ภาคอีสาน และหนุนให้กลุ่มนักเรียนทุนทั้งที่เป็นศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันในส่วนที่อยู่ในคณะด้านการศึกษาเข้าไปมีบทบาทเรียนรู้ในการทำงานกับภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ เชื่อมต่อหลักสูตร กับท้องถิ่นและศิษย์ โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองเพื่อเป็นการคืนคุณค่าแก่ท้องถิ่น ซึ่ง รศ.ดร.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าโครงการก่อการครู คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ทำความร่วมมือกับโครงการทุนกรุงไทยการไฟฟ้า ได้กล่าวเสริมว่า ทางก่อการครูได้ผลิตครู โดยดึงครูจากพื้นที่ เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ และทำให้ครูรุ่นใหม่เข้าสู่กระบวนการพัฒนาตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ
การทำงานในส่วนนี้จะสอดคล้องกับการทำงานที่โครงการทุนฯ มีแผนงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสนับสนุนศิษย์เก่าที่มีความเข้มแข็งสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้เยาวชนในพื้นที่ลดปัญหาคนรุ่นใหม่ทิ้งท้องถิ่นเข้าสู่เมือง
ด้านคุณศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย มองว่าการจะให้ครูมีรายได้ที่มั่นคงและสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้นั้น ครูต้องทำงานในถื่นกำเนิดของตนเอง ซึ่งจะมีปัจจัยรอบด้านที่ช่วยสร้างความเข็มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเอง และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน
ด้าน ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แจ้งกับที่ประชุมว่าทาง สสส. มีแผนงานที่จะทำความร่วมมือกับกรุงไทยการไฟฟ้า ที่จะผลักดันศิษย์เก่าที่อยู่ทั่วประเทศ ให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ส่งต่อประโยชน์ให้กับท้องถิ่น สร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเยาวชนที่อยู่แต่ละจังหวัด ภายใต้โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ เช่น ความเข้มแข็งของศิษย์เก่านักเรียนทุนที่เป็นเกษตรกรยุคใหม่ในจังหวัดสุโขทัย เขาเป็นผู้นำในพื้นที่ ดูแลอาชีพให้กับชาวบ้านกว่า 230 ครัวเรือนในการทำเกษตรแบบใหม่ ความเข้มแข็งจุดนี้ หากเยาวชนในจังหวัดได้เข้ามาเชื่อมต่อเรียนรู้จากศิษย์เก่าในช่วงปิดเทอม คิดว่าจะสร้างประโยชน์แก่ท้องถิ่นให้กับคนรุ่นใหม่ได้กลับมามีแรงสร้างสรรค์สิ่งดีๆเพื่อบ้านเกิด นักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษามีเครือข่ายแลกเปลี่ยนในอนาคต ตอบโจทย์คำว่าส่งต่อที่ไม่สิ้นสุดของกรุงไทยการไฟฟ้า โดย สสส. เองมีภาคีเครือข่ายในพื้นที่แทบจะทุกจังหวัดที่จะสามารถสนับสนุนศิษย์เก่าได้
ด้านอาจารย์เกษมสันต์ วีระกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนทำบุญวันเกิดกับธรรมศาสตร์ กล่าวแลกเปลี่ยนว่า การจะพัฒนาเยาวชนในทุกระดับช่วงอายุมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีการติดตามและสร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการปลูกฝังทัศนคติดและความรู้ความสามารถที่ทันยุคทันโลก และยังรู้จักคืนคุณค่าสู่สังคม เหมือนนักเรียนทุนที่ทางกองทุนทำบุญวันเกิดธรรมศาสตร์ได้ดำเนินการมาอย่างได้ผล ซึ่งจากนี้คาดว่านักเรียนทุนกรุงไทยการไฟฟ้าและนักศึกษาที่ได้รับทุนจากองทุนฯ จะได้มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกิจกรรมร่วมกัน
เช่นเดียวกันกับ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (Research Institute for Policy Evaluation and Design: RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าการเข้าไปทำงานด้านการศึกษาในแต่ละพื้นที่ต้องปรับใช้ตามความเหมาะสมในบริบทของแต่ละท้องถิ่น และความพร้อมของผู้ปกครองและครูผู้สอน ซึ่งจะย้อนกลับมาที่เรื่องของการพัฒนาศักยภาพครู ที่ท้ายที่สุดแล้วเราต้องทำไปควบคู่พร้อมๆ กัน คือพัฒนาทั้งตัวเด็กและตัวครูที่มีบทบาทสำคัญ
ด้าน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยังได้สนับสนุน ตอบรับการขยายผลผลลัพธ์งานวิจัยโครงการทุนการศึกษาฯ ให้เข้าไปอยู่ในระบบฐานข้อมูลงานวิจัยด้านการศึกษา ของ กสศ. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อองค์ความรู้ด้านการให้โอกาสทางศึกษาที่ลดความเหลื่อมล้ำ
ทั้งหมด จึงเป็นความร่วมมือและแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ ในมิติของการทำงานที่ภาคเอกชนลุกขึ้นมาทำงานด้านการศึกษาที่ต่อเนื่องและยาวนาน จนนำไปสู่การเป็นผู้นำผลักดันให้เครือข่าย และบุคคลสำคัญด้านการศึกษาได้เข้ามาช่วยกันทำงาน เพื่อช่วยเหลือประเทศ ในมิติของการพัฒนาคนคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ