คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

[email protected]

ภาษาเหนือ-อีสาน

เรียน คุณน้าชาติ ที่นับถือ

เนื่องจากในช่วงฤดูหนาว บรรดาผู้อ่านข่าวมักจะเรียกชื่อน้ำค้างสับสนปนเปไปหมด คงจะเป็นเพราะถิ่นกำเนิดของผู้อ่านข่าวแต่ละคนนั่นเอง ทำให้เรียกชื่อตามภาษาถิ่นที่พวกเขาเคยเรียกมาตลอดชีวิต

‘แม่คะนิ้ง’ คือชื่อ ‘น้ำค้างแข็ง’ ที่เรียกขานโดยชาวอีสาน
1
‘เหมยขาบ’ คือชื่อ ‘น้ำค้างแข็ง’ ที่เรียกขานโดยชาวเหนือ ดังนั้น เมื่อเรียก ‘น้ำค้างแข็ง’ บน ‘ภู’ กระดึง ว่า ‘แม่คะนิ้ง’ ก็จะถูกต้องที่สุด และเมื่อเรียก ‘น้ำค้างแข็ง’ บน ‘ดอย’ อินทนนท์ ว่า ‘เหมยขาบ’ ก็จะเหมาะสมอย่างที่สุด

แต่เมื่อบอกว่า มี ‘แม่คะนิ้ง’ บน ‘ดอยอินทนนท์’ ก็จะรู้ได้เลยว่า ผู้อ่านข่าวคนนั้น คือคนที่มีถิ่นกำเนิดในภาคอีสาน

และเมื่อบอกว่า มี ‘เหมยขาบ’ บน ‘ภูกระดึง’ ก็พอจะเดาได้เลยว่า ผู้อ่านข่าวคนนั้น คือคนเหนือ

หากไม่พยายามใช้ภาษาถิ่นให้ถูกต้องเสียตั้งแต่ในตอนนี้ อีกไม่นานเราอาจได้ยินผู้อ่านข่าว ใช้คำว่า ‘ภูสุเทพ’ ‘ดอยกระดึง’ “ภูสุเทพ” หรือ ‘ดอยทอง’ แทน ‘ภูเขาทอง’ กันบ้างแน่ๆ เลย

หากเห็นด้วย ก็ขอให้ช่วยเผยแพร่ความคิดนี้ไปยังผู้อ่านข่าว หรือผู้เขียนข่าวด้วย

ขอบคุณ

Pongkaset

ตอบ พงษ์เกษตร

เป็นความรู้ที่นำมาแบ่งปันกัน ใครมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกส่งมาได้เรื่อยๆ ได้เลย ยินดีๆ

ฝอยทอง

ทําไมหนังสือพิมพ์ถึงเรียกชื่อทีมโปรตุเกสว่า ฝอยทอง จริงหรือเปล่าที่โปรตุเกสเป็นประเทศที่เผยแพร่ฝอยทอง กวนตอบด้วยครับ

จิตรนันท์

ตอบ จิตรนันท์

ไทยกับโปรตุเกสรู้จักกันมาช้านาน เพิ่งฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 500 ปีไปหมาดๆ

อย่างที่ได้ยินมา มิผิด…มิผิด ฝอยทองแจ้งเกิดในประเทศไทยพร้อมกับทองหยิบและทองหยอดในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดย ดอนญ่า มารี กีมาร์ เดอปิน่า ผู้มีชื่อภาษาไทยว่า ท้าวทองกีบม้า (เข้าใจว่า ชื่อนี้เพี้ยนมาจาก ตองกีมาร์) สาวลูกครึ่งโปรตุเกส-ญี่ปุ่น ภริยาของคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์

ตามประวัติที่ศึกษากันมา ท้าวทองกีบม้ามีหน้าที่เป็นหัวหน้าห้องเครื่องต้น เป็นผู้ทำอาหารเลี้ยงต้อนรับคณะราชทูตจากฝรั่งเศสที่มาเยือนกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับทำขนมไทย ประเภททองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีผู้ยกย่องว่าท้าวทองกีบม้าเป็น ‘ราชินีแห่งขนมไทย’

ชีวิตของท้าวทองกีบม้าพลิกผันไม่ใช่น้อยๆ แต่งงานตั้งแต่อายุเพียง 16 ปีกับฟอลคอน ผู้มีภรรยามาแล้วหลายคน ต่อมาในปีพ.ศ.2231 เมื่อฟอลคอนถูกประหารในข้อหากบฏ ท้าวทองกีบม้าถูกส่งตัวเข้าไปเป็นคนรับใช้ในพระราชวัง เพื่อทำอาหารหวานประเภทต่างๆ

ปรากฏว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าวทองกีบม้าประดิษฐ์ขนมขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา โดยดัดแปลงตำรับเดิมโปรตุเกส และเอาวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีในสยามเข้ามาผสมผสาน ซึ่งหลักๆ ได้แก่ มะพร้าว แป้งและน้ำตาล รสชาติเป็นที่ถูกใจจนได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าห้องเครื่องต้น

ท้าวทองกีบม้ามีอายุยืนถึง 4 รัชกาล คือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระเจ้าเสือ และสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ 66 ปี

สำหรับฝอยทอง ภาษาโปรตุเกสเรียก ผมนางฟ้า หรือ fios de ovos (ฟีสจีออวุส) แปลว่า เส้นไข่ ลักษณะเป็นเส้นฝอยๆ สีทอง ทำจากไข่แดงของไข่เป็ด เคี่ยวในน้ำเดือดและน้ำตาลทราย มีกำเนิดที่เมืองอาไวโร่ เมืองชายฝั่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโปรตุเกส เป็นขนมที่ชาวโปรตุเกสและบราซิลนิยมแต่งหน้าเค้กและกินเป็นขนม เผยแพร่มายังญี่ปุ่นและไทย ในช่วงที่โปรตุเกสเดินเรือสำรวจโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 16-18

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน