​วันที่ 8 เมษายน 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่บริเวณโรงทหารหน้า ซึ่งปัจจุบันคือศาลาว่าการกลาโหม นับเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการกิจการทหารสมัยใหม่ให้มีความเป็นสากลทัดเทียมนานาอารยประเทศ พร้อมที่จะเผชิญภัยคุกคามจากประเทศมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคม โดยได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการจัดส่วนราชการ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ภารกิจ และอาวุธยุทโธปกรณ์ตราบจนถึงปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลา 131 ปี ที่ผ่านมา ได้มีเหตุการณ์สำคัญที่เป็นสิ่งท้าทายนานับปการตั้งแต่ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ผลกระทบอันเกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศ ปัญหาภัยธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมอันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปสู่ภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้ต้องปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดและวิธีการทำงาน ทำให้กระทรวงกลาโหมและกิจการทหารไทยต้องปรับตัวและมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
​สำหรับในด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน แนวโน้มในอนาคต

การเตรียมการเพื่อการปฏิรูปประเทศ เพื่อสนับสนุนการบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาล โดยให้ความสำคัญกับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสมพระเกียรติ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์คงเป็น ศูนย์รวมจิตใจที่มั่นคงและยั่งยืนของประชาชนชาวไทย และเป็นสถาบันหลักที่สำคัญยิ่งของประเทศ ตลอดจนผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อการป้องกันประเทศ ด้วยการนำพลังอำนาจแห่งชาติทุกด้านมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเพื่อความมั่นคงร่วมกับกระทรวงกลาโหม

โดยใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยเฉพาะการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ การช่วยเหลือประชาชน การแก้ไขปัญหาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติต่าง ๆ เสริมสร้างความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงและความร่วมมือทางทหารกับมิตรประเทศ

ด้วยการใช้กลไกและเวทีระหว่างประเทศทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคีที่ได้จัดตั้งไว้แล้ว ในทุกระดับ รวมทั้งพิจารณาขยายขอบเขตและพัฒนาความร่วมมือทางทหารไปยังมิตรประเทศที่ได้ดำเนินการอยู่แล้วและประเทศที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ทั้งในด้านการฝึกศึกษา การแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับ

การข่าวกรอง การปฏิบัติการด้านไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้าย และภัยคุกคามข้ามชาติในลักษณะอื่น ๆ โดยกำหนดความเร่งด่วนและความสำคัญให้สอดคล้องกับแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับมิตรประเทศของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2560-2564 ตลอดจนจัดเตรียมกำลังให้มีความพร้อมปฏิบัติภารกิจ การปฏิบัติการเพื่อสันติภาพในกรอบขององค์การสหประชาชาติ และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนและมิตรประเทศตามนโยบายรัฐบาล

รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางสื่อตามโอกาสที่เหมาะสม เพื่อแสดงให้เห็นถึงบทบาทของกองทัพอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ​สนับสนุนรัฐบาลในการดำเนินการที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 แผนงาน 10 ปี ประชาคมอาเซียนและการขับเคลื่อนประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างฝ่ายทหารอาเซียนและประเทศคู่เจรจา

โดยเฉพาะความร่วมมือด้านความมั่นคงในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defence Ministers’ Meeting : ADMM) การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting – Plus : ADMM – Plus) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum : ARF)

ตลอดจนให้ความสำคัญกับการประชุมและกิจกรรมความร่วมมือของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้ายในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM – Plus EWG on CT) การพัฒนาศักยภาพศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Center of Military Medicine : ACMM) ให้มีขีดความสามารถในการเป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือทั้งในด้านการอำนวยการ ประสานงาน

และการบริหารจัดการด้านการแพทย์ให้สามารถตอบสนองต่อการเผชิญภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศนอกภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพขยายความร่วมมือกับหน่วยงานฝ่ายพลเรือนและองค์การระหว่างประเทศ

เพื่อเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่ไม่ใช่ภัยคุกคามทางทหารในภูมิภาค รวมทั้งเตรียมความพร้อมของกระทรวงกลาโหมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ADMM, ADMM – Plus และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในฐานะที่ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปีพ.ศ.2562

​สนับสนุนรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการจัดตั้งและการพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้วยการใช้การทูตโดยฝ่ายทหารและกลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงที่มีอยู่แล้วในทุกระดับ เพื่อสร้างความมั่นใจและความไว้เนื้อเชื่อใจกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศสมาชิกอาเซียน และมิตรประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของภูมิภาค อันจะนำไปสู่ความมั่นคงปลอดภัยและอยู่ดีกินดีของประชาชน

​สนับสนุนรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในทุกมิติ โดยเฉพาะการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ การจัดระเบียบสังคมและควบคุมการกระทำผิดกฎหมาย และการเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้กับคนในชาติให้มีความยั่งยืนต่อเนื่อง

เพื่อการวางรากฐานการปฏิรูประเทศ ด้วยการรวมกำลังทุกภาคส่วนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม มีความมั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งจะต้องดำเนินงานควบคู่ไปกับ “การสร้างจิตสำนึกทางสังคม” อย่างต่อเนื่อง

​สนับสนุนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเรื่องที่เป็นวาระเร่งด่วนและการแก้ไขปัญหาของชาติ การดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศตามนโยบายรัฐบาล เช่น การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) และปัญหาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civit Aviation Organization : ICAO) เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในอนาคต

สนับสนุนการจัดทำข้อมูลบริการประชาชนแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล และการแจ้งเตือนข่าวสารทางอิเล็กทรอนิกส์ของส่วนราชการในกระทรวง กลาโหมให้ทันสมัย พร้อมทั้งปรับปรุงข้อมูลของส่วนราชการในสื่อสังคมออนไลน์ให้มีความทันสมัยอย่างต่อเนื่อง ประชาสัมพันธ์

เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยให้มีเนื้อหาที่มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี และการปฏิรูประเทศ โดยแสดงข้อมูลที่เข้าใจง่าย กระชับ ระบุประโยชน์ที่สังคมและประชาชนจะได้รับ

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสังคม ตลอดจนให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารในการปฏิบัติราชการ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) ของรัฐบาล

​ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหม 8 เมษายน 2561 กระทรวงกลาโหม ขอยืนยันความมุ่งมั่นในการจัดเตรียมกองทัพเพื่อรองรองรับภัยคุกคามทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การพัฒนาประเทศ การสนับสนุนการแก้ไขปัญหา

ที่สำคัญของชาติ ตลอดจนช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเต็มความสามารถ โดยจะพัฒนาและปฏิรูปกระทรวงกลาโหม เพื่อมุ่งสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ คือ “การมีกองทัพชั้นนำ มีบทบาทสำคัญในด้านความมั่นคงของรัฐ และมีบทบาทนำในการส่งเสริมความมั่นคงของภูมิภาค” อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน