เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.เกศี จันทราประภาวัฒน์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะตัวแทนผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นประธานเปิดงานเวทีนำเสนอผลงานและสรุปโครงการ “นักเรียนสร้างพื้นที่ปลอดภัย โอบรับความหลากหลายทางเพศ” จัดขึ้นโดย Save the Children Thailand (มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ได้รับเกียรติจาก กีโยม ราชู ผู้อำนวยการมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย รัชฎาพร บุตรเพ็ชร นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ ตัวแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา และ สัพพัญญู ปนาทกูล นักแสดงและอินฟลูเอนเซอร์ LGBTQI+ ชื่อดัง ร่วมรับฟังการนำเสนอกิจกรรมของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ “สนับสนุนนักเรียนสร้างพื้นที่ปลอดภัย โอบรับความหลากหลายทางเพศ” จาก 4 โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา โรงเรียนวัดพระยาสุเรนทร์ โรงเรียนวัดลาดพร้าว และโรงเรียนแก่นทองอุปถัมภ์ ที่โรงแรมเมอร์เคียว มักกะสัน
โครงการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 ได้รับการสนับสนุนจาก FRI หรือองค์กรนอร์เวย์เพื่อความหลากหลายทางเพศและเพศสภาพ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายมากมายที่นักเรียน LGBTQI+ ในโรงเรียนไทยต้องเผชิญ นักเรียนเหล่านี้มักประสบกับการกลั่นแกล้ง การเลือกปฏิบัติ และการขาดความเข้าใจจากเพื่อน ครู และระบบโรงเรียนในภาพรวม
สำหรับนักเรียน LGBTQI+ หลายคน การเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีการสนับสนุน ทำให้เด็กๆ รู้สึกโดดเดี่ยว นโยบายเครื่องแบบที่เคร่งครัดตามเพศสภาพซึ่งไม่ยืดหยุ่นต่ออัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายทำให้เด็กๆ ยิ่งรู้สึกว่าการแสดงตัวตนอย่างแท้จริงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก
นอกจากนี้การขาดสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างและครอบคลุมทำให้เด็กๆ ต้องเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิต การยอมรับตนเอง และความเป็นอยู่โดยรวม โครงการนี้ทำงานกับนักเรียนในการเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึกเหล่านี้
กิจกรรมในวันนี้ทำให้เห็นถึงความพยายามที่จะท้าทายความคิดในกรอบเดิมๆ ผ่านการสร้างความตระหนักรู้ ส่งเสริมความครอบคลุม และลดการกลั่นแกล้งในโรงเรียน สร้างนักเรียนให้มีพลังในการเป็นตัวแทนแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยมีส่วนร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยและยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศทุกรูปแบบ
กีโยม ราชู กล่าวว่า “ทุกกิจกรรมที่เด็กๆ ทำในโรงเรียนเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และความแตกต่าง เราขอแสดงความยินดีกับเด็กๆ ที่เป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลง การสร้างความตระหนักรู้และทำให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งเป็นวิธีที่เราจัดการกับปัญหาเก่าๆ ที่มีอยู่มานาน โดยที่ปัญหาต่างๆ นี้เกิดจากความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ เราจึงต้องการกิจกรรมแบบนี้มากขึ้น ผมหวังว่าทุกคนจะเปิดใจรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เด็กๆ ทุกคนแสดงตัวตนของเขา”