สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จัดโครงการลานวัฒนธรรมสร้างสุข ประติมากรรมเพื่อชุมชน ในพื้นที่หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ถนนเทียมร่วมมิตร นำเสนอผลงานเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในสุนทรียภาพจากงานศิลปะร่วมสมัยให้ประชาชน
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สศร. ดำเนินการพัฒนาความร่วมมือกับเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย พร้อมทั้งเปิดพื้นที่สาธารณศิลป์ สร้างการรับรู้และความเข้าใจในสุนทรียภาพจากงานศิลปะร่วมสมัยให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ลานวัฒนธรรมสร้างสุขภายในวธ. ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
“โครงการลานวัฒนธรรมสร้างสุข ประติมากรรมเพื่อชุมชน นำเสนอผลงานศิลปะร่วมสมัยที่สร้างสรรค์โดยศิลปินร่วมสมัย ศิลปินศิลปาธร ที่มีชื่อเสียงของประเทศ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และผลงานศิลปะสะสมของสศร. ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่น ขนาดใหญ่มหึมา ตระการตา ที่สำคัญเคยนำไปจัดแสดงในต่างประเทศมาแล้ว มาจัดแสดงร่วมกันครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรก ทั้งด้านในหอศิลป์แห่งชาติ และด้านนอกซึ่งเป็นลานวัฒนธรรมสร้างสุข ระหว่างวันที่ 24 ก.ย.-20 พ.ย. เพื่อยกระดับพื้นที่ให้เป็นแลนด์มาร์กด้านศิลปะร่วมสมัยแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพมหานคร”
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า ผลงานที่เป็นไฮไลท์นำมาจัดแสดงบริเวณลานวัฒนธรรมสร้างสุข ได้แก่ ผลงานประติมากรรมวิหารสูงกระจกสะท้อนแวววาว ชื่อ Liminal Space โดย สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์, ผลงานเจดีย์เป่าลม ไท-ยวนปิ๊กบ้าน : การสืบทอดและส่งต่อ สื่อถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนยวนพลัดถิ่นที่ต้องอพยพมาจากเมืองเชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อ 200 ปีก่อน โดยศิลปินกลุ่มบ้านนอก, ผลงานหมาจุด ตัวแทนความฉลาดแสนรู้ของสุนัขพันธุ์ไทย เชื้อสายราชบุรี และ Dragonerpanzer รถถังที่ตกแต่งด้วยลวดลายกระเบื้องถ้วยกะลาแตก สะท้อนเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา โดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์, ผลงาน DOLLAR 009 ประติมากรรมไฟเบอร์กลาสขนาดใหญ่ หุ่นเด็กหญิงในท่านั่ง ตัวแทนของมนุษย์ที่ดำรงอยู่บนโลกที่ต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของโลก โดย ทวีศักดิ์ ศรีทองดี
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ Cloud : ม่าน เมฆ หมอก โดย กฤษฎา ดุษฎีวนิช ภัณฑารักษ์ นำเสนอบทสนทนาแห่งการต่อยอด วิธีคิดทางศิลปะร่วมสมัย ติดตั้งภายในหอศิลป์แห่งชาติ อาทิ Yellow Simple ประติมากรรมไฟเบอร์กลาสรูปศีรษะมนุษย์ขนาดใหญ่ที่มีลักษณะแบบพุทธศิลป์ โดย สาครินทร์ เครืออ่อน, ผลงาน เสมอภาค : ทหารไทย (หลัก 6 ประการ) โดย สุธี คุณาวิชยานนท์ และผลงาน Fork โดย ปรัชญา พิณทอง เป็นต้น