มูลนิธิศุภนิมิตฯ ตั้งเป้าปี 68 ช่วยเหลือเด็กเปราะบางยากไร้ เปิดผลสำรวจ 4 มิติ รากปัญหา

ภายใต้สังคมโลกในยุคเศรษฐกิจและสังคมผันผวน วิถีชีวิตผู้คนต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางสังคมและสภาพแวดล้อมของชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย (World Vision Foundation of Thailand) องค์กรพัฒนาเอกชนส่วนหนึ่งของศุภนิมิตสากล หรือ World Vision International ซึ่งมีพันธกิจการช่วยเหลือเด็กมาแล้วกว่า 70 ปี มีเครือข่ายกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

ในประเทศไทย มูลนิธิศุภนิมิตฯ เราดำเนินพันธกิจมาแล้วกว่า 50 ปี ด้วยอาศัยความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่กว่า 36 จังหวัด

ล่าสุด มูลนิธิศุภนิมิตฯจัดงาน Celebrate Vision, Celebrate You เปิดวิสัยทัศน์ ขับเคลื่อนพันธกิจทางสังคมในภาพรวม โดยมี นางรสลิน โกแวร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูล พร้อมเผยสถิติใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก สตรีและชุมชน

“เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิศุภนิมิตฯทำการวิจัยในกลุ่มเด็กกว่า 83,000 คน ทั้งที่อาศัยในพื้นที่ชนบทและในเขตชุมชนเมือง ทั้งที่เป็นเด็กในความอุปการะและไม่ใช่เด็กในความอุปการะของเรา งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เน้นถึงรูปแบบและลักษณะของความเปราะบางยากไร้ในเด็กและเยาวชน รวมถึงรากของปัญหาที่เป็นสาเหตุของความเปราะบางยากไร้เหล่านี้” นางรสลิน กล่าว

กว่า 51% ของเด็ก 83,000 ราย ที่เราสำรวจพบว่าเป็นเด็กที่เปราะบางยากไร้ที่สุด โดยเด็กช่วงอายุ 7-12 ปี มีสัดส่วนสูงสุดในกลุ่มเด็กที่ได้รับการระบุว่าเป็นเด็กเปราะบางยากไร้ที่สุด (Most Vulnerable Children- MVC) และเด็กเปราะบางยากไร้ (Vulnerable Children- VC)

ทั้งนี้ ความเปราะบางยากไร้ในนิยามของมูลนิธิศุภนิมิตฯ มีอยู่ 4 มิติ ได้แก่ 1. ความสัมพันธ์ที่ใช้ความรุนแรงหรือแสวงหาประโยชน์ 2. ความขาดแคลนอย่างรุนแรง 3. ความเปราะบางเนื่องจากหายนะหรือภัยพิบัติ และ 4. การเลือกปฏิบัติอย่างร้ายแรง

ในบรรดามิติความเปราะบางยากไร้ทั้ง 4 มิตินี้ มิติที่ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางสูงสุดคือ ความขาดแคลนอย่างรุนแรง (63%) รองลงมาคือ การถูกเลือกปฏิบัติอย่างร้ายแรง (28%) ภัยพิบัติหรือเหตุการณ์วิกฤต (25%) และการล่วงละเมิด (18%)

นอกจากนี้ ยังพบว่าความเปราะบางที่สูงที่สุดจากการสำรวจ คือ เด็กที่อาศัยอยู่ในสภาพครอบครัวที่ยากจน คิดเป็นร้อยละ 44 หรือประมาณ 37,000 คน รองลงมาคือ เด็กที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ คิดเป็นร้อยละ 19 และ เด็กที่มาจากครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว คิดเป็นร้อยละ 16 นอกจากนี้ ยังพบว่าร้อยละ 20 ของเด็กในพื้นที่โครงการของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือบริเวณชายแดน และร้อยละ 9.4 เป็นกลุ่มเด็กชายขอบ

ทีมงานศุภนิมิตฯ ศึกษารากของความเปราะบางยากไร้เหล่านี้ และพบว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหามีดังต่อไปนี้

โครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป (Changing family structures): มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสังคมที่สัมพันธ์กันหลายประการ, การย้ายถิ่นฐานจากชนบทสู่เมือง เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ อันส่งผลต่ออัตราการแยกกันอยู่และการหย่าร้างของพ่อแม่

ทั้งสองปัจจัยนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของครัวเรือนแบบ “ข้ามรุ่น” คือปู่ย่าตายายเป็นผู้เลี้ยงดูหลานแทนพ่อแม่ของเด็ก เรามักเห็นว่าแนวโน้มเหล่านี้ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในการทำประชุมกลุ่มสนทนา (Focused Group Discussion- FGD)

การใช้สารเสพติดที่เพิ่มขึ้น (Increasing substance abuse): จากการทำประชุมกลุ่มสนทนา (FGD) ทุกกลุ่มอายุในทุกพื้นที่ต่างระบุตรงกันว่าการใช้สารเสพติด ทั้งยาเสพติดและแอลกอฮอล์ เป็นประเด็นสำคัญที่น่ากังวลใจอย่างมาก เด็กและเยาวชนหลายคนที่ร่วมการสำรวจรายงานว่า “เคยพบเจอกับการใช้สารเสพติดทั้งภายในบ้านและชุมชน”

และในประเด็นที่เชื่อมโยงกับความเปราะบางยากไร้ หัวข้อที่พบบ่อยครั้งคือ การติดสารเสพติดเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดความรุนแรงที่กระทำโดยพ่อแม่ และการทอดทิ้งละเลยเด็กในครอบครัว

ความตึงเครียดทางการเงิน เป็นเหตุผลที่มักอ้างถึงมากที่สุดที่เป็นสาเหตุให้พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กหันไปใช้สารเสพติด ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจนี้ มักถูกซ้ำเติมด้วยปัจจัยความตึงเครียดทั้งภายในและภายนอกครัวเรือน

ตัวอย่างของปัจจัยภายใน ได้แก่ คนในครอบครัวเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรง ในขณะที่ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป

ทั้งหมดนี้ เป็นรายงานการวิจัยล่าสุดทีทีมงานศุภนิมิตฯ รวบรวมขึ้น เพื่อวางแผนการดำเนินงานในอนาคตอันใกล้ และก้าวใหม่ในปี 2568 นี้ ศุภนิมิตฯ ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าสานต่อพันธกิจในงานการพัฒนา เพื่อต่อยอดและปรับปรุงแนวทางในการดำเนินงานและติดตาม เพื่อให้สามารถเข้าถึงและช่วยเหลือเด็กเปราะบางยากไร้ที่สุด ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ทั้งนี้ เราจำเป็นต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชน เพื่อทราบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าเด็กกลุ่มใดคือเด็กที่เปราะบางยากไร้ที่สุด และ เพื่อช่วยเหลือและมอบการสนับสนุนได้อย่างตรงเป้าหมายตามความต้องการที่จำเป็น

เพื่อแก้ปัญหาความยากไร้ที่มีความซับซ้อน ตลอดจนช่วยเสริมสร้างการทำงานของเครือข่ายให้เข้มแข็ง และเป็นกำลังในการหนุนเสริมหน่วยงานภาครัฐให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDG)

งานการพัฒนาเด็กและเยาวชน มูลนิธิศุภนิมิตฯ มุ่งเน้นการดูแลเด็กและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพให้เด็กอายุ 0-12 ปี ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพของพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็ก เพื่อให้มีส่วนช่วยให้เด็กมีพัฒนาการและเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และมีผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่ดีจากการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ

ส่วนงานการพัฒนาเยาวชน มูลนิธิศุภนิมิตฯยังคงมุ่งเน้นการเสริมสร้างเยาวชนอายุ 13-24 ปี ให้มีทักษะชีวิตและจิตสาธารณะอย่างเหมาะสม ผ่านสภาเยาวชนศุภนิมิต ที่มูลนิธิฯ จัดตั้งขึ้น โดยตั้งใจจะส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มเยาวชนและเครือข่าย ให้สามารถให้คำปรึกษาเพื่อนเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และมีความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนทัศนคติที่ถูกต้อง เพื่อนำสู่การปรับเปลี่ยนค่านิยมในการเลิกใช้สารเสพติด

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นงานพัฒนาอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวและชุมชน ให้พึ่งพาตนเองและมีชีวิตความเป็นอยู่ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมรู้รับปรับตัวต่อสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสามารถรอดพ้นจากภัยพิบัติที่อาจต้องเผชิญ

มากไปกว่านั้น มูลนิธิศุภนิมิตฯ ยังคงมุ่งมั่นในงานการปกป้องคุ้มครองเด็ก งานด้านการโยกย้ายถิ่นฐานและประชากรข้ามชาติ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของประชากรข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นกลุ่มเปราะบางยากไร้ที่สุดด้วยเช่นกัน โดยผ่านงานรณรงค์เพื่อปรับปรุงนโยบาย

“การมีบทบาทสำคัญยิ่งในการนำชีวิตที่ครบบริบูรณ์ไปสู่เด็กทุกคน ผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เด็ก รวมถึงครอบครัวและชุมชน ความสำเร็จในพันธกิจการช่วยเหลือต่างๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากความร่วมมือร่วมใจ การสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ จากทุกฝ่าย” นางรสลิน กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน