คติ – สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรม : พระนอน วัดพุทไธศวรรย์

พระนอน วัดพุทไธศวรรย์ – ประวัติวัดพุทไธศวรรย์ สร้างขึ้นประมาณปี พ..1896 โดยพระเจ้าอู่ทอง หลังสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี บนพื้นที่ที่เชื่อว่าเป็นที่ประทับก่อนย้ายเข้ากรุงศรีอยุธยา โดยใช้รูปแบบคติ สัญลักษณ์ ของวัดตามคติ การสร้างวัดมหาธาตุในสมัยสุโขทัยที่มีพระปรางค์ (แบบไทย) เป็นสัญลักษณ์ศูนย์กลางแห่งจักรวาล

พระนอน วัดพุทไธศวรรย์

เป็นที่น่าสังเกตก็คือ กรณีที่จะสถาปนางานทางสถาปัตยกรรมในรูปแบบนี้นั้น ผู้สร้างน่าจะต้องเป็นผู้มีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองอย่างสูง ประวัติของวัดที่กล่าวว่าสร้างเมื่อพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาได้ 3 ปี แล้ว ในขณะที่การจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นนั้นจำเป็นที่อยุธยาหรือพระเจ้าอู่ทองต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีเงินทอง และไพร่พลมากพอที่จะจัด ทำจัดหาวัสดุ ช่างฝีมือ และแรงงานมาสร้างสรรค์งานในระดับนี้มากมาย ซึ่งอาจจะคาดได้ว่าอยุธยาในสมัยนั้นคงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคม ร่ำรวยอยู่มาแล้ว และการสถาปนากรุงศรีอยุธยาของพระเจ้าอู่ทองก็เริ่มต้นด้วยการพัฒนาที่ดินที่เป็นหนองน้ำชื่อหนองโสนก็หมายถึงการลงทุนค่อนข้างมากทีเดียว

ในส่วนของพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ กับพระพุทธไสยาสน์นั้นก่อสร้างอยู่ในเขตพุทธาวาสก็มีรูปแบบที่น่าจะแตกต่างสมัยกัน

องค์พระพุทธรูปปางไสยาสน์นั้น พระเศียรหันไปทางทิศตะวันตก หันพระพักตร์ (หน้า) ไปทางทิศใต้ จึงไม่ใช่พระพุทธรูปที่มุ่งหมายจะเน้นไปถึงการแสดงธรรมที่ เรียกว่า ปรินิพพานสูตร อีกทั้งพระพุทธรูปองค์นี้ก็ยาวประมาณ 10.00 เมตร ไม่นับว่าเป็นพระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่สำคัญนัก และก็ไม่แน่ใจว่าสร้างพร้อมวิหารหรือไม่ เพราะตัวพระวิหารมีฐานวิหารเรียกว่าทรงสำเภานั้นก็เป็นรูปแบบของอุโบสถหรือวิหารในสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22-23

คำถามเชิงศึกษาคือ ใครเป็นผู้สร้างพระ พุทธรูปองค์นี้ และการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้คงไม่ใช่มาจากความเชื่อหรือศรัทธาของการสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างเดียว น่าจะมีจุดมุ่งหมายทางธรรมอย่างอื่น ที่น่าจะวิพากษ์วิจารณ์กันก็เพราะงานประเภทนี้ปัจจุบันเขาเรียกการพัฒนาเมือง ซึ่งในอดีตการพัฒนาเมืองก็คือการเริ่มต้นสร้างศูนย์กลางหรือศาสนสถานขนาดใหญ่ของชุมชน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับขนาดของเศรษฐกิจของชุมชนนั้นๆ

โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน