เที่ยวไทยปีกุน ฝากความหวังคนไทยช่วยชาติ

เที่ยวไทยปีกุน ฝากความหวังคนไทยช่วยชาติ – ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเกินความหมายแต่อย่างใด กรณีนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวปี 2562 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เน้นคนไทยเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักกลุ่มหนึ่ง อย่างที่ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า “ตลาดท่องเที่ยวนับแต่นี้ไปกลุ่มที่จะพึ่งพาได้มากจริงๆ ก็คือไทยเที่ยวไทยนี่แหละ ซึ่งปี 2561 ตัวเลขได้ 150 ล้านคนครั้งแน่นอน ไซซ์ใหญ่คึกคักกว่าต่างชาติเที่ยวไทยตั้ง 5 เท่าตัว ใช้จ่ายอาจจะโตขึ้นได้อีก แต่ไม่ขี้เหร่เพราะพอฟัดพอเหวี่ยงกับรายได้ตลาด จีนแล้ว

ที่สำคัญกว่าก็ตรงที่ไทยเที่ยวไทยไปเมืองรอง มากกว่า เร็วกว่า ไปได้บ่อยกว่า และใช้จ่ายกับสินค้า อาหาร และบริการท้องถิ่นได้กระจายตัวกว่า มีการพาผู้สูงวัย พาเด็ก พาผู้พิการ และพาคนป่วยออกไปเที่ยวพักฟื้น วันนี้ท่องเที่ยวมิใช่เครื่องมือทำรายได้เฉยๆ แล้ว แต่เป็นเครื่องมือที่ละเอียดอ่อนที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำสารพัดมิติ ช่วยกระจายรายได้ไปให้ถิ่นต่างๆ ไปถึงคนตัวเล็กๆ อย่างน่าภูมิใจทั้งผู้ได้รับและผู้จ่าย”

ประโยคเหล่านี้บ่งบอกว่าตลาดไทยเที่ยวไทยไม่ควรมองข้ามและต้องหยิบยกเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทาง ททท.ตั้งเป้าปี 2562 ให้ได้นักท่องเที่ยวคนไทย 170 ล้านคนครั้ง

ปีใหม่ : เที่ยวไทยปีกุน ฝากความหวังคนไทยช่วยชาติ

● เทงบหมู่บ้านโอท็อปนวัตวิถี

การมุ่งเน้นส่งเสริมตลาดไทยเที่ยวไทย ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากหลังเกิดเหตุเรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวแดนมังกรเริ่มชะลอตัวลง โดยเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมาที่นักท่องเที่ยวจีนปรับตัวลดลงในสัดส่วน 0.87% และ 11.77% ตามลำดับ แต่ถือเป็นเรื่องโชคดีที่ก่อนหน้านี้หน่วยงานภาครัฐได้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยมาระยะหนึ่งแล้ว และค่อนข้างประสบความสำเร็จอย่างดี

ประกอบกับกระแสละครดังย้อนยุคอย่าง “บุพเพสันนิวาส” ส่งผลให้คนไทยจำนวนไม่น้อยแห่แหนไปเที่ยวเมืองเก่าอยุธยากันอย่างล้นหลาม

ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยปี 2561 เกือบทุกชาติในทุกทวีปเพิ่มขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจาก 9 ประเทศในอาเซียนมีจำนวนเท่าๆ กับนักท่องเที่ยวจีนแล้ว

ดังนั้น เมื่อผนวกเข้ากับนโยบายส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว โอท็อปนวัตวิถี ซึ่งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทุ่มงบประมาณในการพัฒนา 3,273 ชุมชนท่องเที่ยวทั่วประเทศ วงเงิน 9,328,118,200 บาท

แยกเป็นงบส่วนกลาง 983.86 ล้านบาท และงบในส่วนภูมิภาค 8,344.26 ล้านบาท ยิ่งเป็นสิ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนบางกลุ่มว่านี่คือนโยบายประชานิยม เพื่อหวังเพิ่มคะแนนเสียงให้กับพรรคประชารัฐที่มีรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลชุดนี้เป็นแกนนำ เนื่องจากเป็นการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศจัดตั้งพรรคประชารัฐไม่นาน

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในภาพรวม ส่งผลดีต่อชุมชนในหลากหลายแง่มุม ขณะเดียวกันก็มีผลเสีย ซึ่งจะเสียมากเสียน้อยขึ้นอยู่กับบริบทและการบริหารจัดการของชุมชนนั้นๆ

5 เส้นทางในเมืองรอง

ย้อนกลับมาถึงนโยบายของ ททท.ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง นายนพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. แจกแจงว่า เน้นการ กระจายรายได้ไปสู่เมืองรองทั้ง 55 เมือง พร้อมกับการส่งเสริมให้ท่องเที่ยวในวันธรรมดา ซึ่งจะมีแคมเปญต่างๆ อย่างปี 2562 จะเน้นเรื่องการลดปริมาณขยะทั้งบนบกและในน้ำด้วย เพื่อเป็นการบอกเล่ากล่าวขานให้รู้ไว้ว่า จริงๆ ประเทศไทย ยังให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเน้นให้คนมีจิตสำนึกในการเดินทางท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง แบ่งออกเป็น 5 เส้นทางใน 5 ภูมิภาคทั่วไทย ตามความสนใจของแต่ละกลุ่ม โดย

ภาคเหนือใช้คำว่า More Authentic ซึ่งมีวิถีชีวิตหลากหลายชาติพันธุ์ มีเอกลักษณ์ท่ามกลางภูมิประเทศที่สวยงาม

ภาคอีสาน “More Gastronomy” คือ มากกว่าอร่อย มากกว่าความเป็นอาหาร หมายความทั้งวิธีการปรุง แหล่งผลิต จนกลายเป็นโปรดักต์ มีอาหารที่บอกเล่าเรื่องราววิถีคนอีสาน

ภาคกลาง “More Legacy” ด้วยผลที่มีความเป็นอารยธรรมสูง เป็นมรดกแห่ง สยาม

ภาคตะวันออก “More Fun” ซึ่งมีความหลากหลายในเรื่องของทรัพยากรทั้งทะเล ทั้งผลไม้ มีแหล่งสนุกสนานในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ

ภาคใต้ “More Inspired” ที่นี่ไม่ได้มีดีแค่ทะเล นอกเหนือจากริมทะเลแล้วบนบกจะมีหลากหลายมาก โดยพยายามจะผลักดันเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้คนปรับทัศนคติบ้าง ให้อยากไปเที่ยวบ้าง

ชุมชนภูมิใจถิ่นเกิด

นายนพดลพูดถึงชุมชนท่องเที่ยว โอท็อปนวัตวิถีว่า จริงๆ มีชุมชนที่สามารถจะมาพัฒนาให้เป็นการท่องเที่ยวได้มากกว่า 3,000 ชุมชนทั่วประเทศ แต่ทาง ททท.มองถึงความพร้อมเพื่อป้องกันผล กระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะเชิงวัฒนธรรมสังคมในพื้นที่ เพราะฉะนั้นต้องเตรียมความพร้อมให้ชุมชน และทยอยเริ่มดำเนินการไป ซึ่งทาง ททท.ไม่ได้จะส่งเสริมให้คนไปเที่ยวทั้ง 3,000 กว่าชุมชน ณ วันนี้ในเวลาเดียวกัน แต่มองว่าชุมชนที่มีความพร้อม มีความเข้มแข็ง มีความแข็งแรง ททท.ถึงจะเริ่มมาส่งเสริมทางด้านการขาย

“ชุมชนจริงๆ เขาไม่ได้มีความชำนาญในเรื่องการส่งเสริมด้านการตลาด เราพยายามจะไปบอกถึงวิธีการ เทคนิคทางด้านการตลาด โดยเฉพาะเรื่องของวิธีการจะสื่อสารให้คนทราบ เพื่อต้องการให้เกิดความยั่งยืนจริงๆ ที่เกิดมาจากตัวชุมชน ชุมชนสามารถดำเนินการส่งเสริมการขายได้เอง ด้วยตัวของตัวเอง ตรงนี้เราจะมีบทบาทเข้าไปช่วย ซึ่งปีที่ผ่านมาเราทำอยู่หลายชุมชน”

อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าการส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวโอท็อป นวัตวิถีมีผลดีหลายประการ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ทำให้คนในชุมชนเกิดความรักความสามัคคี และระดมสมองช่วยกันหาจุดดีจุดเด่นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน ทั้งในแง่วัฒนธรรม ประเพณี อาหารการกิน และแหล่งท่องเที่ยว และร่วมกันบริหารจัดการ เพื่อชักชวนให้ผู้คนไปเที่ยวไปเยือน ซึ่งนอกจากจะทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางแล้ว ยังสามารถขายสินค้าและบริการได้ด้วย ส่งผลให้คนในชุมชนมีรายได้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

ดังที่ นางวันวิสา นิยมทรัพย์ กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม สะท้อนว่า นโยบายชุมชนท่องเที่ยวโอท็อปนวัตวิถีเป็นนโยบายที่ดี ที่ช่วยให้คนในชุมชนมีงานมีอาชีพ รักและภาคภูมิใจในถิ่นเกิด แต่สิ่งสำคัญคือภาครัฐต้องให้ชุมชนได้ทำในสิ่งที่ต้องการ โดยหน่วยงานรัฐที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนชุมชนต้องเลือกใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีจิตวิญญาณที่ทำเพื่อสังคม มิใช่เพียงแต่ทำตามหน้าที่เท่านั้น ชุมชนต้องมีตลาดรองรับ มีการพัฒนาต่อยอด สร้างความเป็นไทยนิยมยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลจริงๆ เท่านี้ชุมชนก็จะเกิดความมั่งคั่งยั่งยืน

หวั่นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

พร้อมกันนี้เธอได้ชี้ให้เห็นผลเสียที่เกิดขึ้นว่า ข้อเสียของโครงการนี้ก็มีแต่ไม่น่าจะเกิดจากนโยบาย เป็นเรื่องที่ผู้ดำเนินการคัดสรรไม่ลงลึกดูความพร้อมของชุมชน ไม่เตรียมความพร้อมสร้างองค์ความรู้ให้เข้าถึงก่อนเปิดตัว ทำให้มีการเลือกสรรผลผลิตโอท็อปที่คล้ายๆ กับชุมชนอื่น ไม่มีความโดดเด่น ความเป็นนวัตวิถียังไม่รู้อยู่ตรงไหน การสร้างแบรนด์ยังขาดอัตลักษณ์ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ต้องให้การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย หรือสื่อความหมายถึงความเป็นตัวตนของชุมชน นอกจากนี้ต้องให้ความรู้เรื่องความสามัคคีและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การเป็นเจ้าบ้านที่ดี ไมตรีจิตของคนในชุมชนจะเป็นเสน่ห์ของโอท็อปนวัตวิถี

การประชาสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้องใช้การสื่อสารทุกช่องทางช่วย โดยเฉพาะการตลาดแบบปากต่อปาก (viral marketing) น่าจะเป็นช่องทางที่ได้ผลเร็วที่สุดอย่างหนึ่ง นอกเหนือไปจากการโฆษณาทางสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์

ปีใหม่ : เที่ยวไทยปีกุน ฝากความหวังคนไทยช่วยชาติ

ที่ผ่านมามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทำนองว่านโยบายส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวโอท็อปนวัตวิถี คือการปูพรมให้งบประมาณ และเน้นให้ทำในแนวทางเดียวกัน โดยไม่ได้ดูความพร้อมและศักยภาพของแต่ละชุมชน ซึ่งเท่ากับเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะสภาพที่เกิดขึ้นหลายหมู่บ้านในภาคอีสานทำในลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะชุมชนภาคเกษตร อย่างเช่น มีการทำสะพานไม้ไผ่ในคูน้ำลำคลองของหมู่บ้าน แล้วพานักท่องเที่ยวล่องแพ นั่งรถอีแต๋น นั่งแทรกเตอร์ไปดูเรือกสวนไร่นา วิวทิวทัศน์ท้องทุ่ง ไปวัดและไปดูการทอผ้า หรือการผลิตสินค้าโอท็อปของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งหลายคนมองว่าหากไม่มีความพร้อม ไม่มีการบริหารจัดการ และทำการตลาดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ประกอบกับไม่มีจุดขายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว

อีกไม่นานการก่อสร้างต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอท็อปนวัตวิถีก็คงจะอยู่ในสภาพร้างรา ผุพังไปในที่สุด เหมือนโครงการอื่นๆ ที่รัฐบาลทุ่มงบไปให้โดยชุมชนไม่มีความพร้อม และไม่ได้เกิดจากความต้องการอย่างแท้จริงของคนในชุมชน

ที่สำคัญผู้คนส่วนใหญ่ในบ้านเราไม่ได้นิยมการท่องเที่ยวในชุมชนมากนัก

จากนี้คงต้องติดตามกันว่าจะมีชุมชนท่องเที่ยวโอท็อปนวัตวิถีสักกี่แห่งที่ประสบความสำเร็จ และใช้งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้อย่างคุ้มค่า

อ่านข่าวท่องเที่ยวอื่นๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน