สัมผัสมิติใหม่ มิวเซียมสยาม

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

มิวเซียมสยาม – เปิดบ้านพาชมนิทรรศการถอดรหัสไทย พร้อมโชว์สื่อที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของทุกช่วงวัย ล่าสุดเพิ่มอุปกรณ์ไฮเทคเพื่อให้ทันโลกยุค โซเชี่ยล ช่วยให้คุณหนูๆ ตลอดจนผู้พิการทางสายตาได้ความรู้ สนุกและเพลิดเพลินยิ่งขึ้น รวมถึงเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชย

มิวเซียมสยาม

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) เผยว่าสถานที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แนวใหม่ ภายใต้แนวคิด “พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้” (Discovery Museum) นำเสนอด้วยกระบวนการและวิธีการเรียนรู้แบบใหม่ๆ เพื่อเปิดมิติการชมพิพิธภัณฑ์ตามแนวคิด “Play (เพลย์) + Learn (เลิร์น) = Plearn (เพลิน)” ปลุกกระแสให้คนหันมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์มากขึ้น ใช้ศักยภาพทั้งในเชิงความรู้และเชิงพื้นที่ร่วมผลักดันให้เกิดมิติใหม่ของการเรียนรู้และการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ รวมถึงสถานที่ทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ด้วยการพัฒนามิวเซียมสยามให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงแหล่งเรียนรู้และวัฒนธรรมแห่งเกาะรัตนโกสินทร์ เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติด้วยการมาของรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชยใจกลางพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์

มิวเซียมสยาม

“มิวเซียมสยามพร้อมบริการรองรับผู้พิการทางสายตาที่จะได้ เรียนรู้นิทรรศการไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป เรามีบริการมาตรฐาน ได้แก่ ทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตาโดยติดตั้งอยู่ทั้ง 14 ห้องจัดแสดงนิทรรศการ และรถเข็นสำหรับผู้ที่ต้องการใช้บริการ พร้อมจัดเตรียม เจ้าหน้าที่นำชมที่ได้รับการอบรมการ นำชมสำหรับผู้พิการทางสายตาคอยบริการบรรยายนิทรรศการอย่างละเอียด และมีโมเดลจำลองที่จัดทำขึ้นเฉพาะการเรียนรู้สำหรับผู้พิการทางสายตาเพื่อให้เข้าใจเนื้อหานิทรรศการยิ่งขึ้น เช่น โมเดลศิลาจารึก เสื้อลูกไม้แขนหมูแฮม (ห้องไทยแปลไทย) โมเดลเขาพระสุเมรุ (ห้องไทยอลังการ) โมเดลนางกวัก (ห้องไทยโอนลี่) โมเดลเรือสุพรรณ (ห้องไทยอินเตอร์) เกมกินเจ เกมสงกรานต์ (ห้องไทยประเพณี) และจัดทำอักษรเบรลขยายความรู้เนื้อหาตำราเรียน 4 ยุค สำหรับห้องนิทรรศการไทยวิทยา และยังมีความรู้เกี่ยวกับเนื้อหานิทรรศการทั้ง 14 ห้องโดยทำเป็นอักษรเบรลที่สั่งผลิตขึ้นด้วยพลาสติกง่ายต่อการใช้งาน เตรียมพร้อมบริการที่จุดจำหน่ายบัตร ในอนาคตจะผลิตออดิโอ ไกด์ เสียงบรรยายเฉพาะ ผู้พิการทางสายตา” นายราเมศกล่าว

มิวเซียมสยาม

มิวเซียมสยาม

ผู้อำนวยการมิวเซียมสยาม กล่าวต่อว่า นิทรรศการชุดถอดรหัสไทยเป็นอีกส่วนที่พัฒนาโดยใช้สื่อที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ภายในห้องนิทรรศการทั้ง 14 ห้อง แต่ละห้องจะมีกิมมิกหรือลูกเล่นการให้ความรู้ความสนุกที่แตกต่างกัน มีทั้งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้างสีสันการเข้าชมนิทรรศการ เช่น เทคโนโลยีระบบเออาร์ ได้แก่ ห้องไทยวิทยา ห้องไทยแชะ ห้องไทยเชื่อ ห้องไทยอินเตอร์ ห้องไทยชิม ห้องไทยอลังการ ห้องไทยแค่ไหน ห้องไทยโอนลี่ ห้องไทยประเพณี ห้องไทยดีโคตร ห้องไทยสถาบัน ห้องไทยแปลไทย

มิวเซียมสยาม

ส่วนห้องไทยตั้งแต่เกิด นำเสนอด้วยระบบ โมดูลไฮโดรลิก ระบบวีอาร์ จำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริง ผ่านการรับรู้จากการมองเห็น เสียง โดยสวมแว่นตาและมีรีโมตเมาส์ควบคุมให้ผู้เล่นไปทัวร์ห้องนิทรรศการ 14 ห้องกันอย่างสนุกสนาน หรือบางห้องใช้แมนวล เทคนิค ในแบบมิวเซียมสยามมาช่วยเล่าเรื่องให้เนื้อหานิทรรศการสนุกและน่าเรียนรู้ไม่แพ้กัน

มิวเซียมสยาม

นอกจากระบบเออาร์แล้ว ยังมีระบบคิวอาร์ โค้ด ติดไว้ทุกห้องและทุกจุดของตัววัตถุจัดแสดงเพื่อสะดวกต่อการหาข้อมูลที่รวดเร็ว รวมถึงบริการออดิโอ ไกด์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติรองรับถึง 6 ภาษา ประกอบด้วย ภาษาไทย อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส จีน และญี่ปุ่น โดยหวังว่าพันธกิจต่างๆ เหล่านี้จะส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่และขยายโอกาสการเรียนรู้สำหรับผู้พิการสายตาและด้านร่างกาย

มิวเซียมสยาม

การเดินทางมามิวเซียมสยามเดินทางมาได้ทั้งรถยนต์ส่วนตัว รถสาธารณะ หรือเรือโดยสาร และด้วยการเปิดบริการของรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน ยิ่งทำให้การเดินทางมามิวเซียมสยามง่ายยิ่งขึ้น เพียงขึ้นที่สถานีสนามไชย เดินเข้ามิวเซียมสยามได้เลย เปิดบริการตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.museumsiam.org สอบถามโทร. 0-2225-2777

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน