ภาครัฐ เอกชน ประชาชนพร้อมนำ“ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564” ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมพร้อมร่วมมือสร้างความตระหนักถึงปัญหาเชื้อดื้อยาที่เชื่อมโยงทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ภายในเดือนมีนาคมปีหน้าตามกำหนด หลังคณะรัฐมนตรีมีมติผ่านความเห็นชอบเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา

 

กระบวนการหลังจากนี้คือทุกฝ่ายจะเข้าร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทยและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุขอีกครั้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 นำไปสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม

 

ประเด็นการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทยใช้หลักการ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่ผลักดันโดย ภาครัฐ มีกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานและองค์กรประชาสังคมต่าง ๆ และภาคเอกชน ที่ผ่านมาได้ร่วมกันจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายครั้ง กระทั่งยกร่างออกมาเป็นยุทธศาสตร์และขณะนี้มีความก้าวหน้าที่สำคัญ คือ การจัดทำร่างแผนปฏิบัติการรองรับยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน

 

ประกอบด้วย 1.การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิด สุขภาพหนึ่งเดียว 2. การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศไทย 3.การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาล และควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม 4.การป้องกันและควบคุมกำกับดูแล การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง 5.การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน และ 6. การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน

14508572_10154847555259180_1679884548_n

ด้านภาควิชาการ ได้มีการขับเคลื่อนในหลายระดับ สอดคล้องกับแนวทางของ สมัชชาอนามัยโลก ที่ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกมีแผนยุทธศาสตร์ฯ ภายในปี 2560 และ ประเทศไทยถือว่าได้ดำเนินการตามแนวทากลไกยุทธศาสตร์ความร่วมมือของประเทศ โดยองค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติและองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ กลไกนี้สนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน มาหารือและทำงานร่วมกัน ผ่านกระบวนการ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จนเกิดมติดังกล่าวขึ้น

 

ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่ในชาติที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา หรือสภาพยุโรป ก็มีปัญหาเชื้อดื้อยาเช่นเดียวกับประเทศไทย ปัญหาเชื้อดื้อยาส่งผลกระทบหลายอย่าง ทั้งทางด้านสาธารณสุข ปศุสัตว์ เกษตร และสิ่งแวดล้อม ด้านการรักษาโรคและป้องกันโรคทั้งในคนและสัตว์ รวมถึงด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วยหากไม่รีบแก้ไขคาดว่าในปี พ.ศ.2593 ทั่วโลกจะมีคนเสียชีวิตจากปัญหาเชื้อดื้อยารวม 10 ล้านคน และประเทศในทวีปเอเชียจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะจะเสียชีวิตมากที่สุดสูงถึง 4.7 ล้านคน

 

ในวันที่ 14-20 พฤศจิกายนของทุกปีถือเป็นสัปดาห์ “รู้รักษ์ ตระหนักใช้ ยาต้านแบคทีเรีย” เพื่อเป็นการรณรงค์สร้างความตระหนักต่อสาธารณะ และสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น

 

“เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาสุขภาพหนึ่งเดียวที่มีความซับซ้อน และจำเป็นต้องที่ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน ทั้งสาธารณสุข ปศุสัตว์ เกษตร สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาอย่างยั่งยืนโดยการให้ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์แนวทางปฏิบัติที่ดีให้กับทุกฝ่าย รวมทั้งภาคเอกชนและประชาสังคม เพราะทุกฝ่ายมีความสำคัญเท่ากันและสามารถช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหาเชื้อดื้อยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร. คาทิงก้า เดอ บาล็อค เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านอนามัยสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์แห่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าว
ดร.คาทิงก้ากล่าวว่าประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเพื่อบริโภครายใหญ่ทั้งข้าว ไก่และสัตว์น้ำ ในขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีความพร้อมด้านทุนทรัพย์และกำลังคนเพื่อร่วมกันนำนโยบายการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและอาหารปลอดภัยไปใช้อย่างครบวงจร

 

ด้านภาคเอกชนมีความพร้อมเต็มที่จะนำแนวทางยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทยไปปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง

 

บทเรียนจากไข้หวัดนกทำให้ภาคเอกชนต้องปรับตัวเช่นกันปัจจุบัน บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัดในฐานะผู้ผลิตเนื้อสัตว์แช่แข็งและอาหารแปรรูปครบวงจรได้ยกเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลการผลิต และมองหาอาหารทางเลือกเช่นอาหารพรีไบโอติกส์ สมุนไพรเพื่อเสริมสร้างสุขภาพและอนามัยของสัตว์ ให้มีความแข็งแรงและต้านทานโรค ตามแนวทางคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของสัตว์ด้วย

 

ศูนย์การเรียนรู้เรื่องอาหารปลอดภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรู้ความเข้าใจและช่วยรณรงค์ความตระหนักรู้เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะกับคนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชนไปถึงระดับประเทศและระดับนานาชาติได้ ที่ผ่านมาซีพีเอฟเคยได้รับเชิญให้ไปนำเสนอแนวทางอาหารปลอดภัย และความยั่งยืนทางอาหารในเวทีองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติสำนักงานใหญ่ที่กรุงโรมด้วย

 

“ภาคเอกชนตระหนักว่าพวกเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา สร้างความปลอดภัยทางอาหารจากฟาร์มสู่ถึงมือผู้บริโภคอย่างยั่งยืนได้” นายสัตวแพทย์ พยุงศักดิ์ สมยานนทนากลุ รองกรรมการผู้จัดการด้านธุรกิจและอาหารแปรรูปครบวงจร บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน