ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำตัดสินคดีเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ปู่คออี้ยังหวังได้กลับคืนถิ่นเกิด

วันที่ 11 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 12 มิ.ย. ศาลปกครองสูงสุด นัดฟังคำตัดสินคดีหมายเลขดำที่ ส.58/2555 ระหว่างนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ กับพวก 6 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย โดย นายโคอิ กับพวกรวม 6 คน ฟ้องว่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1 กับพวก 2 คน เผาทำลายทรัพย์สิน ยุ้งฉางข้าว ของผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 จึงเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดี

อาศัยและมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายในบ้านหลังเล็กๆ

โดยคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกแต่ละคนเป็นเงินคนละจำนวน 10,000 บาท

โดยผู้แทนสภาทนายความเข้ายื่นอุทธรณ์คำตัดสินศาลปกครองคดีเผาไล่รื้อชุมชนกะเหรี่ยงแก่งกระจานวันนี้ เหตุคำวินิจฉัยบกพร่อง ไม่ครบประเด็นตามที่ร้อง โดยได้โต้แย้งใน 7 ประเด็น ประกอบด้วย

1.ความมีอยู่จริงของการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน

2.วิถีวัฒนธรรมการผลิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแบบไร่หมุนเวียน มีงานวิชาการรองรับว่าเป็นการทำเกษตรที่ไม่ส่งต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยรักษาป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2553 ยอมรับวิถีวัฒนธรรม ความมีตัวตนและถิ่นฐานดั้งเดิมในพื้นที่ต่างๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

3.การจัดการทรัพยากรภายใต้วิถีวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิมและสิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

4.กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินการตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ไม่ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการทำลายทรัพย์สิน โดยการเผาทำลายหรือรื้อถอน แต่ให้เป็นดุลยพินิจว่าเป็นการป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายแก่อุทยานหรือไม่

5.การปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามหลักแห่งความเหมาะสม และเป็นปฏิบัติการทางปกครองที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ทั้งยังเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนของการกระทำ (Principle of Proportionality) ตามหลักกฎหมายมหาชน

6.หลักการรับฟังคู่กรณี ตามมาตรา 30 แห่งวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ต้องตีความด้วยเจตนาของการออกคำสั่งที่ให้คู่กรณีทราบถึงข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีมีการรับทราบถึงการแจ้งคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนปฏิบัติการเผาบ้านเรือนและรื้อทำลายทรัพย์สิน

7.หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานรับรู้อย่างชัดแจ้งว่ พื้นที่ในแผนปฏิบัติภารกิจครั้งนั้นเป็นกลุ่มเฉพาะของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ที่ดำรงวิถีอัตลักษณ์ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน แต่กลับใช้ปฏิบัติการที่เป็นการละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วย

นาทีเผา

ด้าน ปู่คออี้ พ่อเฒ่าวัย 106 ปี ยืนยันว่า ลืมตามาตั้งแต่เกิดก็อาศัยอยู่ในป่า น้ำนมหยดแรกก็ดื่มกินที่ตรงนั้น พ่อแม่เคยสอนไว้ว่าเป็นชาวดอยชาวเขาก็ต้องอยู่บนดอยบนเขา คนพื้นราบก็อยู่กับคนพื้นราบ ถ้าคนบนดอยมาอยู่กับคนพื้นราบก็จะทะเลาะกันเพราะไปแย่งที่ดินกัน แต่ถ้าไปเยี่ยมเยียนกันได้

“ปู่เกิดมาบนโลกนี้ใหม่ๆ เนื้อตัวไม่สะอาด แต่โตขึ้นก็อยากทำความดี ทำความสะอาดให้โลกนี้ ถ้าคนในโลกช่วยกันทำความสะอาด คนทำความดีย่อมดีกว่าเพื่อน ปู่เกิดมาในโลกไม่อยากทำอะไรชั่ว แต่คนอื่นๆ ก็อย่าทำลายปู่ เวลานี้เราทำความดีคนเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกันทำหลายๆคน”

ปู่คออี้

“อยู่ข้างบนต้องปลูกข้าวกิน หากไม่ได้ถางไร่ ข้าวก็ไม่ขึ้น หากไม่ถางก็ไม่มีอะไรกิน แต่ปู่ไม่ได้ทำลายป่า เราปลูกอยู่ในไร่ ปล่อยไว้พืชป่าก็ขึ้น แล้วเราก็วนกลับมาทำอีกรอบหนึ่ง วนไปเรื่อยๆ ปู่อยู่บนดอยที่บ้านเดิมก็ปลูกข้าวเอง ในไร่”

“ถ้าเขาอนุญาตให้กลับ หากเดินไหวก็จะเดิน ถึงแม้กลับไปข้างบนก็ยังอยู่ในประเทศไทย ถ้าอนุโลมให้กลับก็มีลูกหลานพยุงพาไปได้ หากปู่ได้กลับขึ้นไปคนอื่นก็ต้องรับรู้ด้วย หากแอบกลับไปก็ไม่ดี ต้องให้หลายๆ คนรู้ เวลานี้ปู่รอ หากเขาอนุญาตก็จะคุยกับลูกหลานให้พากลับขึ้นไป” เสียงของคนดอยที่อาศัยอยู่ในป่ามากว่า 100 ปี กล่าว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่าน เผาบ้าน “ปู่คออี้” บาดแผลของคนป่าที่รัฐไม่ให้อยู่ป่า ทั้งที่ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติมากว่าร้อยปี !!

อ่าน ตุลาการแถลงคดีชี้ เจ้าหน้าที่อุทยานบุกเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจานไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน