กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง สำหรับประเด็นเรื่อง คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้าน และกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตอาศัยอยู่ตามพื้นที่สูง มักถูกเจ้าหน้าที่รัฐขับไล่ออกจากบ้านเกิด แม้พวกเขาจะอยู่ในพื้นที่มาก่อนก็ตามที

เนื่องจากแนวคิดของเจ้าหน้าที่รัฐ มักคิดว่า คนไม่สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของอดีตอธิบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รายหนึ่ง ผ่านทางรายการโทรทัศน์ที่ยืนยันว่า ‘คนไม่สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้’ และปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้ป่าไม้หมดไป เนื่องจากถูกชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่าทำลาย !

ทั้งที่หากจะมองอย่างเป็นธรรม ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่าเขานั้น เป็นคนอีกหนึ่งกลุ่มที่ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ ทำให้ที่ผ่านมา มีกรณีเจ้าหน้าที่รัฐบุกรื้อทำลายบ้านพักของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่าเขาอย่างต่อเนื่อง

เพียงเพราะพวกเขาไม่มีเอกสารที่ออกโดยรัฐ ยืนยันว่าสามารถอยู่ในพื้นที่ได้

ที่เป็นเรื่องสะเทือนใจมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือการเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เมื่อปี 2554 โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ปฎิบัติการครั้งนั้นส่งผลกระทบกับพี่น้องหลายกะเหรี่ยงหลายครอบครัว ต้องไร้ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะ โคอิ หรือ คออี้ มีมิ ผู้เฒ่ากะเหรี่ยงวัย 106 ปี แห่งผืนป่าแก่งกระจาน ซึ่งถูกนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาในพื้นที่ด้านล่าง

ทั้งที่ปู่คออี้ อาศัยอยู่ในผืนป่ามานานกว่า 100 ปีแล้ว และอยู่มาก่อนการประกาศพื้นที่อุทยานตั้งนาน แต่เนื่องจากมีวิถีชีวิตที่ไม่ได้ผูกติดกับรัฐส่วนกลาง จึงไม่มีหลักฐานยืนยันการอาศัยอยู่ในพื้นที่

ทำให้ถูกเผาทำลายบ้าน และปฎิบัติราวกับว่าชีวิตของคนป่าคนดอยนั้นไร้ค่า

ซึ่ง ปู่คออี้ กล่าวยืนยันมาโดยตลอดว่า ลืมตามาตั้งแต่เกิดก็อาศัยอยู่ในป่า น้ำนมหยดแรกก็ดื่มกินที่ตรงนั้น

และแม้ร่างกายจะทรุดโทรมลงเรื่อยๆ แต่ปู่ก็ยังหวังว่าในห้วงสุดท้ายของชีวิต จะได้กลับไปใช้ชีวิต และตายที่ถิ่นเกิด “พ่อแม่เคยสอนไว้ว่าเป็นชาวดอยชาวเขาก็ต้องอยู่บนดอยบนเขา คนพื้นราบก็อยู่กับคนพื้นราบ ถ้าคนบนดอยมาอยู่กับคนพื้นราบก็จะทะเลาะกันเพราะไปแย่งที่ดินกัน แต่ถ้าไปเยี่ยมเยียนกันได้”

“ปู่เกิดมาบนโลกนี้ใหม่ๆ เนื้อตัวไม่สะอาด แต่โตขึ้นก็อยากทำความดี ทำความสะอาดให้โลกนี้ ถ้าคนในโลกช่วยกันทำความสะอาด คนทำความดีย่อมดีกว่าเพื่อน ปู่เกิดมาในโลกไม่อยากทำอะไรชั่ว แต่คนอื่นๆ ก็อย่าทำลายปู่ เวลานี้เราทำความดีคนเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกันทำหลายๆคน”

“อยู่ข้างบนต้องปลูกข้าวกิน หากไม่ได้ถางไร่ ข้าวก็ไม่ขึ้น หากไม่ถางก็ไม่มีอะไรกิน แต่ปู่ไม่ได้ทำลายป่า เราปลูกอยู่ในไร่ ปล่อยไว้พืชป่าก็ขึ้น แล้วเราก็วนกลับมาทำอีกรอบหนึ่ง วนไปเรื่อยๆ ปู่อยู่บนดอยที่บ้านเดิมก็ปลูกข้าวเอง ในไร่”

“ถ้าเขาอนุญาตให้กลับ หากเดินไหวก็จะเดิน ถึงแม้กลับไปข้างบนก็ยังอยู่ในประเทศไทย ถ้าอนุโลมให้กลับก็มีลูกหลานพยุงพาไปได้ หากปู่ได้กลับขึ้นไปคนอื่นก็ต้องรับรู้ด้วย หากแอบกลับไปก็ไม่ดี ต้องให้หลายๆ คนรู้ เวลานี้ปู่รอ หากเขาอนุญาตก็จะคุยกับลูกหลานให้พากลับขึ้นไป” เสียงของคนดอยที่อาศัยอยู่ในป่ามากว่า 100 ปี กล่าว

โดยขณะนี้ คดีที่เจ้าหน้าที่บุกเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจานนั้น กำลังอยู่ระหว่างรอการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งกำลังรออยู่ว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่ามาอย่างยาวนาน จะได้รับความยุติธรรมหรือไม่

อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาที่ผู้คนออกมาพูดถึงกระแสอนุรักษ์ การตั้งคำถามกลับสู่หน่วยงานราชการเรื่องคนกับป่า จึงควรให้มีความชัดเจนว่าแท้จริงแล้ว ป่าที่สมบูรณ์สามารถเข้าไปอาศัยอยู่ได้ทุกคนหรือไ่ม่

หรือจะเว้นไว้ให้คนเพียงบางกลุ่มมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่นๆในสังคม !!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน