เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ก้อน ผื่น แผล แผลเป็น ไฝ หูด กระ กระเนื้อ ฝ้า ปานดำ ปานแดง ตาปลา ที่มีอยู่บนผิวหนังจะเป็นเนื้อร้ายหรือไม่? เมื่อไหร่จึงจะถึงเวลาแล้วที่ควรจะพบหมอ? เมื่อมีคำถามเกิดขึ้นในใจ ก็จะต้องหาคำตอบกัน

ต่อไปนี้ คือ คำแนะนำทั่วไปสำหรับสภาพผิดปกติที่ผิวหนังในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งเรานำมาพิจารณาใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงว่าจะเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งหรือไม่ โดยดูเป็นหัวข้อย่อย ๆ ดังนี้

 

  • เรื่องของขนาด

 

ขนาดของก้อนหรือสิ่งผิดปกติบนผิวหนัง หากขนาดใหญ่เกิน 1 ซม. ที่บริเวณผิวหนังทั่ว ๆ ไป ควรได้รับการประเมินโดยแพทย์ เนื่องจากมะเร็งบางชนิดจะเปลี่ยนระยะของความรุนแรงเมื่อขนาดใหญ่เกิน 1 ซม. และในกรณีพิเศษถ้าสิ่งผิดปกตินั้นมีขนาดเล็กแต่อยู่ใกล้อวัยวะสำคัญ เช่น ตา ใบหน้า จมูก ปาก ทางเดินหายใจ อาจต้องได้รับการประเมินเพื่อผ่าตัดแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะทำได้ง่ายกว่าการรอให้มีขนาดใหญ่ขึ้น

 

  • การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

 

เนื้องอกหรือความผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณผิวหนังที่ไม่ใช่มะเร็งมักมีการเปลี่ยนแปลงหรือโตขึ้นช้า มะเร็งผิวหนังบางชนิดอาจเพิ่มขนาดเท่าตัวได้ในระยะเวลา 1-2 เดือน การถลอกบริเวณผิวที่เป็นเรื้อรังไม่หาย ผิวหนังที่เป็นมีความนูนหนาขึ้น อาจต้องได้รับการพิจารณาโดยการส่งตรวจเนื้อเยื่อเพื่อให้ได้การวินิจฉัยว่าเป็นอะไรกันแน่

 

  • มีต่อมน้ำเหลืองโตขึ้น

 

มะเร็งผิวหนังบางชนิดมีลักษณะการแพร่กระจายตามระบบทางเดินน้ำเหลือง อาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นได้ และบ่อยครั้งที่ตัวเนื้อร้ายที่เป็นสาเหตุมีขนาดไม่ใหญ่แต่กลับพบต่อมน้ำเหลืองใหญ่ขึ้น (มักพบในมะเร็งที่มีความรุนแรงสูง – แพร่กระจายเร็ว) โดยทั่วไปต่อมน้ำเหลืองเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมีการทำงานตามปกติ คือการต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม อาจโตขึ้นและเจ็บได้ในภาวะที่มีการอักเสบหรือติดเชื้อของเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง เมื่อคลำได้ก้อนสงสัยเป็นต่อมน้ำเหลืองไม่ว่าจะเจ็บหรือไม่เจ็บ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินความเสี่ยงและการรักษาที่เหมาะสม

 

  • รูปร่างที่น่าสงสัย

 

เนื้องอกหรือเนื้อเยื่อ ที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว มักจะมีขอบเขตและรูปร่างที่ไม่เรียบ มีขอบเขตไม่ชัด เช่นไฝที่ด้านหนึ่งขอบสีชัด แต่อีกด้านหนึ่งมีขอบสีจางเลือนขอบเขตไม่ชัดเจนเป็นหยัก ๆ เป็นลักษณะที่มีความเสี่ยงสูง ส่วนสิ่งผิดปกติบนผิวหนังที่รูปร่างมีความสมมาตร (กลม รี ขอบโค้ง) และมองเห็นแยกออกได้ชัดจากเนื้อเยื่อผิวหนังหรือเนื้อเยื่อปกติข้างเคียงจะมีความเสี่ยงที่ต่ำที่จะเป็นมะเร็ง

 

  • ภาวะจำเพาะที่เพิ่มความเสี่ยงสูงสำหรับการเป็นมะเร็งผิวหนัง

 

ภาวะต่อไปนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงมะเร็งผิวหนังที่เพิ่มขึ้น _

    • ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสงรังสีรักษา หรือเคยสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสี
    • ผิวขาว (ฝรั่งเป็นมะเร็งผิวหนังบางชนิดมากกว่าคนเอเชีย และคนเอเชียเป็นมะเร็งผิวหนังบางอย่างมากกว่าคนผิวดำ)
    • ระยะเวลาในการสัมผัสแสง ultraviolet จากแสงอาทิตย์ ถ้าบ่อยและนานก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
    • สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังเป็นเวลานาน เช่น ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องสัมผัสสารเคมีบางอย่างเป็นประจำโดยไม่มีการป้องกัน
    • แผลเป็นที่เกิดจากแผลที่หายยาก ใช้เวลารักษานาน ติดเชื้อเรื้อรัง (แผลเบาหวาน แผลกดทับ แผลไหม้ที่มีบริเวณกว้างและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม) อาจเปลี่ยนเป็นมะเร็งผิวหนังได้
    • โรค AIDS จะมีความเสี่ยงกับมะเร็งผิวหนังชนิด Kaposi’s มากกว่าคนทั่วไป

นอกจากนี้ยังมีภาวะที่ไม่เจาะจงกับการเป็นมะเร็งผิวหนัง

  • การมีขนงอกจากไฝหรือก้อนบริเวณผิวหนัง : มักจะไม่ใช่มะเร็ง หรือถ้าเป็นจะเป็นมะเร็งเกรดต่ำ
  • มีอาการเจ็บ : มักเกิดจากการอักเสบ หรือติดเชื้อมากกว่า
  • มีอาการคัน : พบได้บ่อยเมื่อเป็นผื่นที่เกิดจากการแพ้ ถ้ามีการคันและเกาเป็นประจำอยู่นานจนผิวหนัง เปลี่ยนแปลงหนาขึ้นหรือดูมีการถลอกเป็นแผลควรพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินความเสี่ยง

การผ่าตัดเพื่อยืนยันการวินิจฉัย

การวินิจฉัยด้วยการซักประวัติตรวจร่างกายอาจมีความแม่นยำได้ระดับหนึ่ง เมื่อความสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งมีมากระดับหนึ่ง (high degree of suspicion) ควรพิจารณาได้รับการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อมาตรวจพิสูจน์ ซึ่งอาจทำได้โดยการตัดมาเพียงบางส่วนหรือตัดก้อนออกทั้งหมดเลย เป็นการผ่าตัดเล็กสามารถทำได้รวดเร็วและกลับบ้านได้หลังทำ

image01

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน