เป็นคลิปที่สร้างจากเรื่องจริง โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และภาคีเครือข่าย จัดแคมเปญรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ขึ้น ภายใต้ชื่อ “กลับบ้านปลอดภัย” พร้อมผลิตสื่อรณรงค์ผ่านคลิปออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “Dead Feed…ข้อความถึงคนที่ยังอยู่” นำเสนอเรื่องราวชีวิตจริงของผู้สูญเสียคนที่รักจากไปจากเหตุการณ์อุบัติเหตุ เปลี่ยนความโศกเศร้าเป็น “พลัง” ส่งต่อความห่วงใยไปยังคนรอบข้าง ในเรื่องการขับขี่ปลอดภัย ด้วยการส่งข้อความผ่านโลกโซเชียลถึงเพื่อนของผู้ที่จากไปให้รับรู้ถึงความห่วงใย ขับขี่ปลอดภัย ไม่ประมาทจนเกิดอุบัติเหตุความสูญเสียดังเช่นตัวเอง และผลิตสื่อรณรงค์ต่างๆ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อทุกแขนง เพื่อส่งมอบความห่วงใย ให้กำลังใจแก่คนเดินทางทุกคน ให้เดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยว ด้วยความปลอดภัยโดยไม่ต้องมีใครบาดเจ็บและสูญเสีย
โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่เป็นช่วงที่มีวันหยุดยาว ทุกคนอยากจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวอยู่กับครอบครัว ท่องเที่ยวเดินทาง หรือกลับบ้านต่างจังหวัด แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ใครหลายคนไปไม่ถึงจุดหมายในเทศกาลปีใหม่ เพียงเพราะความประมาท ความบกพร่องของถนนและยานพาหนะ จนนำไปสู่อุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ในช่วงปีใหม่ 2559 ที่ผ่านมา มีถึง 73 ครอบครัว ที่ต้องสูญเสียคนที่รักจากการดื่มแล้วขับ และอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตบนท้องถนน คือ การขับรถเร็วเกินกำหนด โดยมีคนเดินถนนถูกชนเสียชีวิตจากการขับรถเร็วถึง 34 คน หรือคิดเป็น 9% ของคนตายจากขับขี่ใช้ความเร็วในเทศกาลปีใหม่
“หากเราขับรถด้วยความเร็วที่สูง จะทำให้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้น หรือทำให้ผู้ถูกชนมีโอกาสเสียชีวิตสูง เช่น เมื่อขับรถชนคนเดินถนนด้วยความเร็ว 60 กม./ชม. ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 85 รวมถึงการใช้สมาร์ทโฟนขณะขับขี่ ถ้าขับขี่ด้วยความเร็ว 100 กม./ชม. เพียงละสายตาไปมองหน้าจอมือถือ 2 วินาที หากเกิดการชนจะมีแรงปะทะเทียบเท่าการตกตึก 13 ชั้น ดังนั้นไม่มีของขวัญชิ้นใดที่จะล้ำค่าไปกว่าการที่เราทุกคนได้ “กลับบ้านปลอดภัย” อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว ใช้ช่วงเวลาที่ดีร่วมกัน” ดร.สุปรีดา กล่าว
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ทั้งนี้ ขอฝากข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง 5 ข้อ ดังนี้ ได้แก่ 1.ไม่ดื่มสุรา ทั้งก่อนและขณะขับรถ 2.พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมง ก่อนเดินทาง 3.คาดเข็มขัดนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถยนต์ และสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ 4.ไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถโดยเด็ดขาด 5.ขับรถด้วยความเร็วตามกฎหมายกำหนด คือ ไม่เกิน 90 กม./ชม. ในเขตนอกเมือง ในเขตเมืองใช้ความเร็วตามป้ายกำหนด และเขตชุมชนไม่ควรเกิน 50 กม./ชม.

 

นายพรหมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ( สคอ. )ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. จะมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่สื่อมวลชนเกี่ยวกับการเดินทางปลอดภัย รณรงค์คนเดินทางให้กลับบ้านปลอดภัย ดื่มไม่ขับ- ง่วงไม่ขับ – ขับไม่เร็ว และส่งทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ ประสานการทำงานกับสื่อทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และส่งข้อมูลตรงถึงศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ( ศปถ.) เพื่อเป็นข้อมูลและดำเนินการป้องกันแก้ไขสร้างความปลอดภัยทางถนนต่อไป
นายนันทวัฒน์ โรจน์วรกุลนิธิ อายุ 36 ปี ผู้ประสบเหตุสูญเสียขาทั้ง 2 ข้าง จากดื่มแล้วขับ เล่าย้อนว่า เมื่อปี 2546 ตนเองและเพื่อนดื่มสังสรรค์และไปเที่ยวต่อ นั่นคือจุดเริ่มต้นของความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต จากการเป็นคนขับรถจักรยานยนต์และเพื่อนซ้อนท้าย ขับไปโดยไม่ใส่หมวกกันน็อกและมีอาการมึนเมา พอถึงทางโค้งและรถกำลังจะขึ้นสะพาน มีรถยนต์ได้เปลี่ยนเลนกะทันหัน ทำให้ชนเข้าอย่างจัง ไม่สามารถควบคุมรถได้เพราะขับเร็วและดื่มร่วมด้วย แรงประทะทำให้ตนเองกระเด็นลอยข้ามเกาะกลางถนนและสลบคาที่ ส่วนเพื่อนที่ซ้อนท้ายมาด้วยนั้นทราบภายหลังว่าเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ
“ตอนนั้นคิดว่าไปไหว คิดว่าไม่เมา และกำลังสนุก จึงคิดจะไปเที่ยวต่อ เพียงเสี้ยววินาทีที่ไม่คาดคิดก็เกิดการชนอย่างแรง ฟื้นมาเห็นตัวเองถูกตัดขาทั้ง 2 ข้างไปแล้ว กลายเป็นผู้พิการ รับไม่ได้กับสภาพที่เห็น ทบทวนเหตุการณ์อยู่นานแทบทรุด คิดว่าทำไมไม่ตายไปเลยทำไมต้องคนพิการแบบนี้ ตอนนั้นสลบไป 1 เดือนและนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล 6 เดือน ช่วงกลับไปฟักฟื้นที่บ้านก็คิดสั้นฆ่าตัวตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่รับไม่ได้กับเรื่องที่เกิดขึ้น”
นายนันทวัฒน์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์และความสูญเสียครั้งนั้น ทำให้ครอบครัวต้องขายทรัพย์สินทุกอย่างที่มีเพื่อนำเงินมารักษา จึงคิดไม่อยากอยู่เป็นภาระให้ใคร พยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง และคิดผูกคอตายกับตู้เสื้อผ้า แต่ไม่สำเร็จ แม่กลับมาเจอพอดี เข้าไปช่วยเหลือทันและต่อว่ารุนแรง แม่บอกว่าทำไมทำแบบนี้ ไม่รักตัวเอง ไม่รักแม่และครอบครัวแล้วหรือ แม่ยอมขายทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตลูก แต่ทำไมลูกไม่คิดที่รักษาชีวิตตัวเองไว้ พอได้ยินแม่พูดจึงมีสติมากขึ้น ทุกวันนี้แม่และครอบครัวคือกำลังใจสำคัญที่สุดที่ทำให้เข้มแข็ง สามารถต่อสู่กับอุปสรรคและเป็นแรงผลักดันให้ลุกขึ้นได้ โอกาสมีเพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิต อย่างเพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ต่างจากตัวเราทั้งๆ ที่มีความสามารถไม่ด้อยกว่าใคร แต่กลับไม่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่หวัง เพียงเพราะการดื่มแล้วไปขับในวันนั้น ทำให้ความหวัง ความฝัน ทั้งหมดพังทลายลง และไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้อีกเลย
“จึงขอฝากว่าในเทศกาลปีใหม่นี้ ขอให้ทุกคนลด ละ เลิก การดื่ม เพราะการดื่มแล้วไปขับรถ การขับเร็ว เป็นสาเหตุแห่งความสูญเสีย นำไปสู่การบาดเจ็บ พิการและเสียชีวิต อุบัติเหตุไม่ใช่เวรกรรม เกิดจากการกระทำที่ประมาทและขาดสติ”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน