เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง หน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อม พล.ต.สนธยา ศรีเจริญ รองแม่ทัพภาค 2 ร่วมเป็นประธานในพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากริมแม่น้ำโขง เคลื่อนขบวนแห่เครื่องสักการะและกองบุญผ่านจากถนนกุศลรัษฎากรเพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วิหารหอพระแก้ว ภายในวัดพระธาตุพนม โดยมีพุทธศาสนิกชนไทย-ลาว กว่าหมื่นคน ร่วมในพิธีศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว

โดยพิธีสำคัญนี้ ชาวพุทธศาสนิกชนชาวพุทธเชื่อตามตำนานว่าพระอุปคุต ซึ่งเป็นพระอรหันต์ฤทธิ์มาช่วยคุ้มครองปกปักรักษา เพื่อให้งานบุญเดือน 3 ประเพณียิ่งใหญ่ของชาวพุทธในช่วงตลอด 9 วัน 9 คืน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-12 ก.พ. สำเร็จลุล่วงปราศจากภยันตรายใดๆ โดยระหว่างที่ขบวนแห่เคลื่อนผ่านระยะทางประมาณ 900 เมตร ประชาชนตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างนุ่งขาวห่มขาว ได้โปรยดอกไม้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ส่งกลิ่นหอมตลบตลอดเส้นทาง

องค์พระธาตุพนม ถือเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองไทยศักดิ์สิทธิ์มายาวนานกว่า 2,500 ปี ตามตำนานกล่าวว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.8 ภายในมีการบรรจุพระอุรังคธาตุหรือกระดูกส่วนหน้าอกขององค์พระสมเด็จสัมมาสัมพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังเป็น พระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ และคนที่เกิดปีวอก ชาวพุทธในภาคอีสานของประเทศไทยและลาว เชื่อว่าหากใครมีโอกาสเดินทางไปกราบไหว้ถวายเครื่องสักการะบูชาหน้าองค์พระธาตุด้วยตนเองแล้ว จิตใจจะสงบเยือกเย็นอย่างน่าอัศจรรย์ เชื่อว่าเมื่อตายไปแล้ววิญญาณจะได้ไปสู่สรวงสวรรค์

องค์พระธาตุพนม ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์สองฝั่งแม่น้ำโขงแห่งนี้ เชื่อกันว่าเมื่อครั้งองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาประทับแรมอยู่หนึ่งราตรีด้วย ทำให้ทุกปีในวันงานจะมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศจากไทย-ลาว เดินทางมาร่วมพิธีนับแสนคนในช่วงตอด 9 วัน 9 คืน ซึ่งถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้มีการนำพระธาตุพนมเสนอขึ้นเป็นมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างขั้นตอนพิจารณา

ดร.ไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า การนำพระธาตุพนมเข้าสู่มรดกโลก มีขึ้นหลังครม.มีมติที่จะขับเคลื่อนพระธาตุพนมเข้าสู่มรดกโลก ขณะนี้จังหวัดได้มีการเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ไว้ 6 ด้าน คือในเรื่องของการกำหนดขอบเขตให้มีความชัดเจนว่าจะใช้พื้นที่ดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะมี 2 ส่วน คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์พระธาตุพนม และในส่วนของภูมิทัศน์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงตั้งแต่แม่น้ำโขงขึ้นมาจนถึงลานพระธาตุพนม และองค์พระธาตุพนม

“ด้านต่อมาจะเป็นด้านสนับสนุนทางวิชาการพระธาตุพนมเข้าสู่มรดกโลก มี 2 ส่วนสำคัญ คือส่วนของโบราณสถานที่เป็นความเก่าแก่ จะมีการขุดค้นเพื่อหาข้อมูลมาอธิบายประกอบถึงความเป็นมาที่กล่าวอ้างว่ามีการก่อสร้างมากว่า 2,000 ปี และส่วนของศาสนสถาน ที่เป็นเรื่องของความเชื่อของพี่น้องในถิ่นนี้ทั้งชาวไทย ชาวลาว ชาวกัมพูชา ที่ให้ความเชื่อถือและปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้” นายไพฑูรย์ กล่าว

รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ระบุด้วยว่า ขั้นตอนการนำเสนอ โดยจะเริ่มตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างองค์พระธาตุพนมที่มีหลายชนชาติมาร่วมกันก่อสร้าง ประเพณีการกราบไหว้สักการะบูชา เช่น งานไหว้พระธาตุพนมในเดือน 3 ซึ่งทุกๆ ปีจะมีคนมากราบไหว้บูชาเป็นจำนวนมาก หรือถ้ามาไม่ได้ก็จะมีการฝากธูปเทียนให้ลูกหลานมาสักการะแทน โดยจะมีการหาข้อมูลเชิงวิชาการมาสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน