ปฏิเสธไม่ได้ว่า โอกาสการค้าขายและการลงทุนข้ามชาติในยุคโลกาภิวัตน์ ล้วนมาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มธุรกิจที่ต้องการจะประสบความสำเร็จ ต้องมองทะลุความเสี่ยง เพื่อก้าวสู่การคว้าโอกาส ดังกรณีศึกษาของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของวงการส่งออกอาหารสดและแปรรูปสู่ตลาดโลก ทั้งในภาคพื้นทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกา แม้แต่ประเทศที่มีมาตรฐานสูงลิบอย่าง ญี่ปุ่น ยังให้การยอมรับและเปิดทางให้ ไก่ซีพี กลายเป็นเมนูเจ้าประจำตลอดระยะเวลา 5 ทศวรรษที่ผ่านมา นำเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ประเทศ อีกทั้งยังสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรไม่น้อยอีกด้วย

ประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำในสังคมแห่งการเรียนรู้จึงถอดบทเรียนความสำเร็จของซีพี จากความสำเร็จในฐานะผู้นำตลาดอาหารแปรรูป ออกมาเป็นตำราที่นักธุรกิจแดนปลาดิบต้องเรียนรู้ ผ่านสารคดีที่รวบรวม “สุดยอดผู้นำธุรกิจ” ในเอเชีย ภายใต้การผลิตของ บริษัทกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น หรือ NHK และ สำนักนิเกอิ สารคดีดังกล่าวนำเสนอเผยแพร่ออกอากาศทั้งในญี่ปุ่นและเครือข่ายทั่วโลก ในประเด็นความสำเร็จของซีพีในการปักธงธุรกิจเหนือแดนมังกร ที่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนในโลกการค้า ที่ทั่วโลกต้องยึดถือเป็นแบบอย่าง

NHK ได้นำเสนอประวัติความเป็นมาของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มองเห็นวิกฤติในประเทศจีนในปี ค.ศ.1989 เมื่อเกิดจราจลที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ส่งผลให้บริษัทต่างประเทศส่วนใหญ่ชะลอการลงทุน หรือ ฟรีซการลงทุนออกไปจนกว่าการเมืองจะดีขึ้น แต่เมื่อมองลอดผ่านแว่นของ เจ้าสัวธนินท์ สถานการณ์ดังกล่าวคือ “โอกาสทอง” ที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ด้วยเหตุนี้ เจ้าสัวจึงรีบรุดไปขอพบประธาน เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนในขณะนั้น ก่อให้เกิดวาทะที่โลกต้องจดจำที่ว่า “แมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ ก็คือแมวที่ดี” แต่สิ่งที่ ซีพี มอบให้กับผู้นำจีน ไม่ใช่แค่ “หนู” เท่านั้น แต่ ซีพี ได้นำหมูเห็ดเป็ดไก่และสารพันโปรตีนชั้นดีเข้ามาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชากรจีนอยู่ดีกินดีในยุคข้าวยากหมากแพง

จากการ “สวนกระแส” ขนานใหญ่ครั้งนั้น ทำให้ซีพีกลายเป็นบริษัทต่างสัญชาติรายแรกของไทยที่ได้รับอนุญาตการลงทุนจากรัฐบาลจีนอย่างเป็นทางการ ดังสุภาษิตจีนบทหนึ่งว่า “ส่งไฟกลางหิมะ” ที่หมายถึง การยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกันในยามยากลำบาก การที่ซีพีส่งคบเพลิงท่ามกลางความหนาวเหน็บในครั้งนั้น จึงได้รับการยอมรับและได้รับเครดิตจากรัฐบาลจีนอย่างใหญ่หลวง

ธนินท์ เล่าว่า ตนเองยึดหลักว่า ในช่วงวิกฤติ มักมีโอกาสเสมอ ดังนั้น การลงทุนในช่วงที่เกิดวิกฤติจะต้องทุ่มแบบไม่กลัวขาดทุนในระยะสั้น แม้จะมีความเสี่ยงสูง แต่ในขณะเดียวกัน หากทำสำเร็จจะถือเป็นธุรกิจเจ้าแรกและเจ้าเดียวแบบไร้คู่แข่ง เป็นโอกาสของการสร้างรายได้จากฐานลูกค้าในระยะยาว เช่นเดียวกับกรณีวิกฤติทางการเมืองของจีน ซึ่งบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ใจไม่กล้าพอที่จะเสี่ยงลงทุนในขณะที่จีนเกิดปัญหา จนมองข้ามไปว่า ขณะนั้นจีนถือเป็นตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อมาก

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้รัฐบาลจีนยอมรับในการเกษตรแบบพันธะสัญญาคือ การใช้ปรัชญา 3 ประโยชน์ อันได้แก่ 1.รัฐบาลต้องได้ประโยชน์ 2.บริษัทที่ลงทุนได้รับประโยชน์ และ 3.ประชาชนก็ต้องได้รับประโยชน์ด้วย สารคดีได้นำเสนอแนวทางการลงทุนที่ซีพีใช้บุกเบิกฟาร์มเลี้ยงไก่ และธุรกิจค้าปลีก ที่แตกต่างจากบริษัทต่างชาติอื่นๆ คือ มุ่งเน้นลงทุนในแถบชนบทมากกว่าชานเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งการคมนาคมขนส่ง ที่พักอาศัย และระบบสาธารณูปโภคยังไม่สมบูรณ์และสะดวกสบาย การลงทุนครั้งนี้จึงเข้าไปช่วยแก้ปัญหาปากท้อง ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้ ช่วยแก้ปัญหาแรงงานในชนบท ซึ่งตอบโจทย์นโยบายของภาครัฐ ที่พยายามลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน อีกทั้งยังเป็นกุศโลบายในการดึงหนุ่มสาวให้กลับมาช่วยพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิด โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล ที่ผ่านมาซีพีร่วมกับรัฐบาลจีนสร้างหมู่บ้านเกษตรกรรมยุคใหม่ โดยขอเช่าที่ดินจากเกษตรกรมาสร้างโรงเลี้ยงไก่ และให้เกษตรกรร่วมถือหุ้นโดยไม่ต้องลงเงิน เพื่อดึงให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของซีพีชนิดที่ว่า นอกจากจะมีรายได้จากค่าเช่าที่ดินแล้ว ยังได้รับเงินปันผลจากกิจการเป็นประจำทุกปีอีกด้วย

นอกจากนี้ เครือข่ายซีพี ยังเน้นวิธีการสื่อสารให้เกษตรกรทุกครัวเรือนรับทราบและเข้าถึงประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากการเข้าร่วมธุรกิจกับซีพี เช่น สัญญาการคืนที่ดินและส่งมอบโรงเลี้ยงไก่คืนให้เกษตรกรเมื่อครบ 20 ปีเต็ม สะท้อนให้เห็นถึงหลักการทำธุรกิจที่ร่วมอยู่ร่วมเจริญไปด้วยกัน สอดรับกับปรัชญา 3 ประโยชน์อย่างลงตัว ทำให้เครือซีพีได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลจีนและเกษตรกรจีน ส่งผลให้การลงทุนของเครือซีพีในประเทศจีนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ หากการลงทุนดังกล่าวขาดประโยชน์ข้อใดข้อหนึ่งไป ย่อมไม่ออกมาอย่างเห็นทุกวันนี้

แม้จะผ่านไปหลายปี สารคดีของ NHK ชุดนี้ ก็ยังเป็นแบบเรียนให้บรรดานักลงทุนแดนปลาดิบได้หันมาทบทวนกลยุทธ์การลงทุนของตนเอง ขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่นักลงทุนชาวไทยก็ต้องมองย้อนกลับมาทบทวนทิศทางการลงทุนของตน ให้มีความเหมาะสม เพื่อเดินหน้าพัฒนาประเทศไทยในทุกมิติเช่นดียวกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน