ศึกชิงสัมปทานดิวตี้ฟรี 2 สัญญา ทั้งสัมปทานสนามบินสุวรรณภูมิ และสัมปทานสนามบินภูมิภาค 3 แห่งคือ จุดชี้อนาคตว่ากิจการดิวตี้ฟรี จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ความมั่งคั่งให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเต็มสูบ หรือเป็นการสร้างผลตอบแทนอย่างงดงามให้กับทุนต่างชาติ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายการเปิดขายซองประมูลพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร หรือ ดิวตี้ฟรี และพื้นที่ร้านค้าปลีกในท่าอากาศยานส่วนภูมิภาค 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (สงขลา) พบว่ามีผู้มาซื้อซองจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย บจก. คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี บมจ. การบินกรุงเทพ บมจ. โรงแรมรอยัลออคิด เชอราตัล (ประเทศไทย) และ บจก.ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล

ตาม TOR ของโครงการประมูลร้านค้าปลอดอากรภายในสนามบินทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ ระบุว่า ผู้เข้าประมูลจะต้องทำธุรกิจดิวตี้ฟรีมาอย่างน้อย 5 ปีและปัจจุบันยังดำเนินธุรกิจดังกล่าวอยู่ จากข้อกำหนดดังกล่าวจะเห็นได้ว่า มีกลุ่มคิง เพาเวอร์ เพียงรายเดียวเท่านั้นที่เข้าตามเกณฑ์ ขณะที่ผู้ร่วมประมูลรายอื่นจำเป็นต้องดึงบริษัทดิวตี้ฟรีต่างประเทศเข้ามาร่วมถือหุ้น กล่าวคือ เซ็นทรัลจับมือดีเอฟเอส สิงคโปร์ การบินกรุงเทพร่วมกับล็อตเต้ เกาหลีใต้ ไมเนอร์ร่วมกับเอสเอสพีอินเตอร์เนชั่นแนล

การประมูลรอบนี้คนไทยควรตั้งคำถามอย่างน้อย 2 ข้อ

ข้อหนึ่ง สัมปทานร้านค้าปลอดอากรอขงไทยจำเป็นต้องพึ่งพิงต่างชาติอยู่อีกหรือ

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นรายได้ภาคบริการสำคัญในการดึงเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ ภาครัฐบาลและภาคเอกชนแต่ละประเทศจะร่วมกันวางกลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ อาทิ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า เพิ่มประสิทธิภาพการบริการของสนามบิน จัดแคมเปญลดราคาทั่วแผ่นดิน ฯลฯ และช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจท่องเที่ยวและกิจการร้านค้าปลอดอากรในภูมิภาคเอเชีย เติบโตอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายพื้นที่หรือสร้างท่าอากาศยานแห่งชาติขึ้นใหม่ เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวพร้อมกับกำลังซื้อต่อหัวที่เพิ่มขึ้น

กล่าวได้ว่า สนามบินและธุรกิจร้านค้าปลอดอากร เป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติของแต่ละประเทศ นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวที่สวยสดงดงามน่าตื่นตาตื่นใจ

ปักหมุด – การเกิดขึ้นของสนามบินสุวรรณภูมิ คือ จุดเปลี่ยนที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ” คิง เพาเวอร์ ธุรกิจของคนไทยสามารถทำธุรกิจดิวตี้ฟรีได้เทียบเท่าระดับโลก”

เพราะในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านค้าปลอดอากรของไทยล้มลุกคลุกคลานมาอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติเข้ามารับสัมปทานแล้วก็จากไป ไม่ประสบความสำเร็จแม้แต่รายเดียว

ฉะนั้นการประมูลให้สัมปทานดิวตี้ฟรีรอบใหม่นี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ประการแรก ถ้าคนไทยชนะประมูลจะเข้าตำรา “เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหนเสีย”

ประการต่อมา ถ้าปล่อยให้บริษัทร่วมทุนกับต่างประเทศชนะประมูลเข้ามามีเอี่ยว ผลกระทบที่ตามมา เริ่มตั้งแต่ผลตอบแทนจากการลงทุนย่อมต้องถูกแบ่งปันกลับไปสู่บริษัทแม่ของเขาตามครรลองธุรกิจ จะมากน้อยขึ้นอยู่กับสัดส่วนการลงทุนของแต่ละราย ทั้งๆที่การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาจากการทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยร่วมกันของทั้งภาครัฐและเอกชนไทย

ลำดับถัดมา การได้แทรกตัวเข้ามาทำธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินของบริษัทต่างชาติ ย่อมหมายความว่า เขาสามารถทราบข้อมูลโครงสร้างต้นทุน ข้อมูลรสนิยมและพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้านักท่องเที่ยว ข้อมูลเหล่านี้ถือว่า “ทรงอิทธิพล” อย่างยิ่ง ทรงอิทธิพลตามคำกล่าว “ Information is the power” ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์สินค้าลักซัวรี่ที่เป็นแบรนด์ต่างชาติด้วย

ดิวตี้ฟรีต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนในไทย อีกด้านหนึ่ง คือ “คู่แข่ง” ย่อมมีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นในอนาคตกิจการดิวตี้ไทยจะยังคงเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป หรือจะถูกลดศักยภาพเป็นเพียงเบี้ยในกระดานทุนดิวตี้ฟรีต่างชาติ

ดังนี้แล้ว ทำให้ต้องขบคิดกันว่า ธุรกิจดิวตี้ฟรีควรจะอยู่ภายใต้การบริหารของคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือ ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามามีเอี่ยว

ข้อสอง เรื่อง จริยธรรม ธรรมาภิบาลของธุรกิจ

ช่วงสองปีที่ผ่านมากลุ่มล็อตเต้ ร่วมกับ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ออกมาเรียกร้องกดดันหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ยกเลิกสัญญาจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ( Duty Free Pick-up Counter ) หรือเปลี่ยนโมเดลสัมปทานธุรกิจร้านค้าปลอดอากรแบบ Master Concession เป็นแบบ By Category โดยยกเหตุผลสารพัดมาสนับสนุน เล่นกันเป็นกระบวนการราวกับคลื่นที่โถมซัดเข้าสู่ฝั่ง

มาถึงวันนี้เมื่อเกิดเหตุน่าสะพึงกลัวที่เกาหลีใต้ “ ประธานใหญ่ของล็อตเต้ นายชิน ดองบิน” เพิ่งโดนอัยการเกาหลีใต้จับได้ว่าทำผิดกฎหมาย ยักยอกเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งใช้ตำแหน่งเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้คนในครอบครัว

เรื่องใหญ่ระดับโลก มูลค่าความเสียหายมากกว่า 1,500 ล้านบาท ไฉนสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และบรรดานักเคลื่อนไหวอย่างอดีตผู้บริหารกระทรวงการคลัง หรืออาจารย์นักวิชาการบางคน ต่างสงบปากสงบคำเงียบสนิท ไม่มีใครกล้าตั้งคำถามกับล็อตเต้ถึงเรื่อง ธรรมาภิบาล จริยธรรม ความโปร่งใส ความซื่อสัตย์สุจริต ฯลฯ นี่ยังไม่ต้องกล่าวถึงนักธุรกิจบางคนที่เพิ่งโดนทางการลงโทษเปรียบเทียบปรับจากข้อหา “ปั่นหุ้น”

บทสรุปจากคำถามที่ตั้งไว้ที่ย่อหน้าแรกนั้น สังคมไทยย่อมสามารถหาคำตอบได้ไม่ยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน