รถไฟ ทำใจแล้ว! ต้องขาดทุนปีละ 300 ล้าน เปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ

รถไฟ / เมื่อวันที่ 14 พ.ค. นายฐากูร อินทรชม ผอ.ฝ่ายปฎิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความเห็นและความสนใจภาคเอกชนในการลงทุนโครงการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการและแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อว่า ปลายปี 2562 รฟท.จะเปิดให้เอกชนประมูลเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ เฟสที่ 1 โดยแบ่งการประมูลออกเป็น 2 สัญญา 1.สัญญาโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ พื้นที่กว่า 13,000 ตร.ม. โดยจะใช้วิธีการจะเปิดประมูลตามระเบียบของรฟท. แบบสัญญารายเดียว

กำหนดอัตราผลตอบแทนจากค่าเช่าที่รฟท.จะได้รับรวมทั้งสิ้น 100 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี เบื้องต้นกำหนดให้พัฒนาเป็นพื้นที่คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายสินค้า เพื่อคนเดินทาง ซึ่งขณะนี้กลุ่มเครือ เซ็นทรัล เดอะมอลล์ และบีอีเอ็มได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลแล้ว

2.สัญญาโครงการว่างจ้างเอกชนมาบริหารระบบรักษาความปลอดภัยและการทำความสะอาด สัญญาสัมปทาน 5 ปี โดยจะเปิดประมูลตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง คาดว่ารฟท.จะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายว่าจ้างบริการประมาณ 300 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้รฟท.จะเร่งเปิดประมูลทั้ง 2 โครงการพร้อมกันในช่วงปลายปีนี้ คาดว่าได้ตัวเอกชนช่วงกลางปี 63 และเปิดให้บริการได้ทันในปี 64 พร้อมกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต

“จากการประเมินฐานะของสถานีกลางบางซื่อในช่วง 5 ปีแรกที่เปิดให้บริการ คาดว่ารฟท.ต้องแบกภาระขาดทุนปีละราว 300 ล้านบาท เพราะรฟท.มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารงานกว่า 300 ล้านบาท เช่นค่าจ้างบริหารสถานี ค่าน้ำค่าไฟขั้นต่ำเดือนละ 5 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้จากค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ และค่าโฆษณาเพียงปีละ 20-30 ล้านบาท ฃเท่านั้น ส่วนรายได้จากการเดินรถสายสีแดงช่วงแรก ก็จะมีรายได้แค่เท่าทุนพอเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น”

นายฐากูร กล่าวต่อว่า เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า รฟท.อยู่ระหว่างจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาสถานีกลางบางซื่อ โดยได้รับสนันสนุนงบประมาณในการจัดตั้งที่ปรึกษามาจากกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานวงเงิน 15 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษา 1 ปี

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะพิจารณาจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้พื้นที่สถานีกลางบางซื่อ จากบริษัทเดินรถไฟทั้งในส่วนสายสีแดง รถไฟฟ้า ไฮสปีด 3 สนามบิน และรถไฟทางไกล เพื่อนำเงินมาอุดหนุนการบริหารจัดการสถานีด้วย ซึ่งจะเป็นรูปแบบเดียวกับที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)จัดเก็บค่าจอด และขึ้นลงสนามบินจากสายการบินที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อเพิ่มรายได้จากการบริหารงานอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน