ผลสำรวจสะท้อน สังคมก้มหน้า-คนสูงอายุพุ่ง ชี้ต้องการครอบครัวอบอุ่น อยากมีบ้านที่ตอบโจทย์

วันที่ 30 พ.ค. มัลเบอร์รี่ โกรฟ (MULBERRY GROVE) โดย MQDC บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดงาน “INTERGENERATION FAMILY LIVING FORUM” งานฟอรั่มครั้งสำคัญแห่งปี ที่ระดมเหล่านักวิชาการนานาชาติและกูรูชื่อดังของไทยมาร่วมเผยเทรนด์ INTERGENERATION FAMILY หรือการอยู่อาศัยของครอบครัวหลายช่วงวัย ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

พร้อมเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชากรไทยที่มีต่อการอยู่อาศัยในครอบครัวหลายช่วงวัยเป็นครั้งแรก พร้อมแชร์ประสบการณ์จากตัวแทนคุณแม่จากครอบครัวที่อยู่อาศัยร่วมกันหลายช่วงวัย อย่าง สู่ขวัญ บูลกุล

นายคีรินทร์ ชูธรรมสถิตย์ ประธานผู้อำนวยการ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และบริการ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ในฐานะผู้จัดงานฟอรั่ม ครั้งสำคัญแห่งปี “Intergeneration Family Living Forum” กล่าวว่า ด้วยปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของ MQDC For All Well Being เรามุ่งมั่นดำเนินธุรกิจไปพร้อม ๆ กับความรับผิดชอบต่อสังคม ในฐานะที่เป็น ผู้ร่วมสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราศึกษามาแล้วว่าดีที่สุด เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า

ดังนั้นนอกเหนือจาก งานพัฒนาโครงสร้างในฐานะผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายแล้ว ขณะเดียวกัน เราก็มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้สร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัย เพื่อบรรลุเป้าหมายสุดท้ายนั่นคือ ความสุขของการอยู่ร่วมกันในครอบครัว จึงเป็นที่มาของการจัดงานในวันนี้

อันเป็นหนึ่งแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของการอยู่อาศัยให้สอดรับกับรูปแบบ ตลอดจนอัตลักษณ์อันมีคุณค่าของครอบครัวเอเชีย ที่ยังคงสืบทอดความปรารถนาอยากที่จะใช้ขีวิตอยู่ร่วมกันในครอบครัวที่มีคนหลายวัยอย่างมีความสุข ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

​ด้าน ผศ.ดร.พิมลพรรณ อิศรภักดี ที่ปรึกษาและอาจารย์พิเศษ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สถาบันฯ จัดทำผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ อายุ 15 – 65 ปี รวม 400 คน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 พบว่า กลุ่มตัวอย่างสูงถึง 70.8% ต้องการอยู่อาศัยในบ้านที่ประกอบด้วยสมาชิกหลายรุ่น

โดยกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปต้องการอยู่อาศัยหลายรุ่นสูงสุด คือ 80.7% ของกลุ่มตัวอย่างที่ปัจจุบันอาศัยแบบครอบครัว 4 รุ่น ต้องการอาศัยอยู่ในครอบครัวหลายรุ่นมากที่สุดคือ 92.0%

รองลงมาคือ ผู้อาศัยอยู่ในครอบครัว 3 รุ่น 78.9% ผู้ที่อาศัยใครอบครัว 2 รุ่น ต้องการอยู่อาศัยแบบครอบครัวหลายรุ่น 66.1%นอกจากนี้ยังพบว่า การอยู่อาศัยแบบครอบครัว 3 รุ่นทำให้สมาชิกในครัวเรือนมีสุขภาพจิตที่ดีกว่าครัวเรือนรูปแบบอื่น

“กลุ่มตัวอย่างถึง 30.3% มองว่าการไม่ได้พักอาศัยในบ้านเดียวกันเป็นข้อจำกัดอันดับแรกของ การมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และเมื่อถามถึงสุขภาพจิตของสมาชิกในครัวเรือนแต่ละรูปแบบก็พบสิ่งที่น่าสนใจว่า

กลุ่มตัวอย่างที่อยู่อาศัยแบบครอบครัว 3 รุ่น มีค่าเฉลี่ยสุขภาพจิตดีกว่าครอบครัวแบบอื่นเกือบทุกด้าน ด้วยเหตุผลว่าสมาชิกในครอบครัวมีความรักและผูกพันต่อกัน เมื่อป่วยหนักเชื่อว่าครอบครัวจะดูแลกันได้อย่างดี และรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเมื่ออยู่ในครอบครัว” ผศ.ดร.พิมลพรรณ กล่าว

ผศ.ดร.พิมลพรรณ กล่าวเสริมว่า ผลสำรวจที่ออกมาชี้ให้เห็นว่า คนไทยยังต้องการอยู่อาศัยกับครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิกหลายช่วงวัย เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว พร้อมถ่ายทอดทักษะการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพียงแต่จากปัจจัยแวดล้อมในสังคมยุคปัจจุบัน

เช่น การใช้ชีวิตที่เร่งรีบในสังคมเมือง การทำงานที่ต้องแข่งขันสูง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีข้อจำกัดในการอาศัยร่วมกัน

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อนมิสไคโกะ ซูกิ (Keiko Sugi) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์การดูแลผู้สูงวัยและเด็กเล็ก KOTOEN นักวิชาการด้านสังคมระดับภูมิภาคเอเชียจากประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา นานาชาติต่างให้ความสำคัญกับแนวโน้มโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยเน้นไปที่โครงการที่พักอาศัยเพื่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเป็นหลัก เพราะคนกลุ่มนี้มีแนวคิดอยากแยกตัวจากครอบครัวมาใช้ชีวิตเอง

โดยเชื่อว่าจะดูแลตัวเองได้ อีกทั้งไม่ต้องการเป็นภาระให้ลูกหลาน ทำให้โครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัย หรือเนิร์สซิงโฮม (Nursing Home) มีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการ

ส่วนคุณภาพบริการก็ไม่ได้มาตรฐาน กลับกลายเป็นว่าที่พักประเภทนี้ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง และรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น จึงมองว่าควรเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับโปรแกรมที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวหลายช่วงวัยมากกว่า

“จากการศึกษาในโมเดลรูปแบบการสร้างสรรค์ศูนย์ดูแลผู้สูงวัยและเด็กเล็ก ที่จัดทำขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น การนำหลายช่วงวัยมาอยู่ร่วมกัน มีกิจกรรมร่วมกัน ถือเป็นเครื่องมือทางสังคมที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ของคนรุ่นต่าง ๆ ได้ ซึ่งการเรียนรู้ระหว่างรุ่นโดยเฉพาะผู้สูงวัยกับคนรุ่นใหม่

ผ่านการทำกิจกรรมและอยู่อาศัยร่วมกัน เช่น การร้องเพลง เต้นรำ สอนหนังสือ จะช่วยเติมเต็มความสดใสให้วัยเด็ก พร้อมกับช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น เพราะการได้ใช้เวลาว่างที่มีนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาสอนเด็กรุ่นใหม่ ทำให้รู้สึกว่าชีวิต มีคุณค่ามากขึ้น นับเป็นประโยชน์ที่ส่งผลดีด้านจิตใจของคนทุกช่วงวัยด้วย” มิสซูกิ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน คิดเป็น 16.9% ของประชากรทั้งหมด และสัดส่วนผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงควรนำเสนอทางเลือกดูแลผู้สูงอายุที่ดี

โดยเน้นที่การสร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้เป็นปึกแผ่นผ่านการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่การส่งผู้สูงอายุไปอยู่นอกบ้าน เช่น บ้านพักคนชรา หรือมูลนิธิต่าง ๆ โดยประเทศญี่ปุ่นถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการดูแลผู้สูงอายุ เพราะขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังปรับระบบรับผู้สูงอายุกลับมาอยู่ที่บ้านให้มากที่สุด เพื่อสร้างความสัมพันธ์ต่าง ๆ กลับคืนมา

“ธรรมชาติของมนุษย์ล้วนต้องการการดูแลเอาใจใส่จากบุคคลที่รัก ซึ่งก็คือคนในครอบครัว ดังนั้นผู้สูงอายุส่วนใหญ่ย่อมปรารถนาจะกลับมาอยู่ร่วมกับครอบครัว โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิต ส่วนสมาชิกในครอบครัวที่เป็นบุตรหลาน ก็ต้องการการเอาใจใส่และได้รับความรักเช่นกัน

หากผู้สูงอายุได้ อยู่ร่วมกันกับลูกหลานในที่อยู่อาศัยแล้ว ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้น และผู้สูงอายุก็ จะได้ทำหน้าที่สำคัญเสริมสร้างความอบอุ่น ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เป็นศูนย์รวมจิตใจของสมาชิกทุกคน ในบ้าน สร้างความเป็นปึกแผ่นให้คนในครอบครัวได้” รศ.ดร.วิพรรณ กล่าว

มิสซาแมนทา อัลเลน (Samantha Allen) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด สถาบัน INTERNATIONAL WELL BUILDING INSTITUTE หรือ IWBI ในฐานะผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์สภาพแวดล้อมและวิทยาศาสตร์จิตวิทยา

เพื่อช่วยพัฒนาภาพรวมด้านการตลาด การศึกษา และที่สำคัญการนำหลักเกณฑ์การประเมินมาตรฐานสำหรับอาคาร Well Building Standard และ Well Community Standard มาใช้ในเอเชียแปซิฟิก

“เพราะมีโอกาสเติบโตในภูมิภาคเอเชีย ทำให้เห็นว่า ครัวเรือนโดยทั่วไปที่นี่จะประกอบด้วยสมาชิก 3 รุ่น รวมถึงในครอบครัวของฉัน ซึ่งคุณยายของฉันเองก็เป็นผู้ใหญ่ลำดับที่ 3 ในครอบครัว นับตั้งแต่เด็ก ฉันจึงได้เห็นความเหมือนและความต่างในสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนที่แตกต่างกันไปในทุกช่วงวัย

และนั่นทำให้ฉันสามารถเข้าใจในสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่จะตอบโจทย์ความต้องการของคนเหล่านั้น ฉันเชื่อเสมอว่า มาตรฐาน Well Building Standard เป็นหลักการประเมินที่จะช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับคนทุกช่วงวัย” มิสอัลเลน กล่าว

ด้าน นายรุ่งโรจน์ จงศุจิพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า หากย้อนกลับไปที่พื้นฐานของครอบครัวเอเชีย หรือครอบครัวไทย พบว่า สังคมครอบครัวไทยได้เริ่มปรับเปลี่ยนจากครอบครัวขยายที่มีคนอยู่ร่วมหลายเจนเนอเรชั่น มาเป็นครอบครัวเดี่ยว ในสัดส่วนสูงจนเห็นได้ชัดตั้งแต่รุ่นยุคเบบี้บูมตอนปลายเป็นต้นมา

ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเบบี้บูม คือกลุ่มผู้ที่เริ่มเข้าสู่กลุ่มผู้สูงวัยหรือสังคมผู้มีอายุยืน (อายุเกิน 55 ปีขึ้นไป) ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ในครอบครัวสมัยใหม่ที่มีขนาดเล็กลง อันเป็นผลพวงจากการแยกตัวจากครอบครัวใหญ่เพื่อออกมาอยู่อาศัยเอง

ด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องแข่งขันสูงในการทำงาน การอยู่อาศัยจึงเน้นทำเลที่ตั้งของสถานที่ทำงาน หรือความสะดวกสบายในการเดินทาง ซึ่งแนวโน้มนี้ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวลดลง มีระยะห่างระหว่างกันมากขึ้น

ดังนั้นบริษัทจึงจัดเสวนาครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อสะท้อนสภาพสังคมครอบครัวเอเชียและปัญหาต่าง ๆ จากประเทศที่มีประสบการณ์จริง เพือนำข้อมูลมาแบ่งปันกับครอบครัวไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้มีอายุยืนตามการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) คาดการณ์ว่า

ในช่วง ค.ศ. 2001 – 2100 เป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุที่หลายประเทศทั่วโลกจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในการคาดการณ์นั้น

การสัมมนานี้ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญในรากฐานชีวิตที่แท้จริงของครอบครัว ตลอดจนคุณค่า การใช้ชีวิต ความสัมพันธ์ และการใช้เวลาร่วมกัน รวมทั้งการเรียนรู้ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านการนำเสนอ ผลวิจัยและมุมมองจากนักวิชาการที่จะช่วยให้ทุกคนมีแนวทางในการนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจเลือกแผนการดำเนินชีวิต

ที่สำคัญคือการวางแผนเลือกที่อยู่อาศัยในระยะยาวในรูปแบบต่าง ๆ โดยรูปแบบนั้น ๆ สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตตามความต้องการในครอบครัว หากต้องการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

“ในส่วนของเรามองว่า การสร้างความอบอุ่นและเติมเต็มความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น MULBERRY GROVE by MQDC จึงได้นำข้อมูลจากการวิจัยมาเป็นพื้นฐานในการสร้างสรรค์ที่อยู่อาศัย เพื่อเป้าหมายในการสานความสุขให้คนทุกช่วงวัย” นายรุ่งโรจน์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน