เมื่อวันที่ 23 มี.ค. นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับ 2 ที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดของโลก โดยประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 หมื่นคนต่อไป จนตอนนี้สถิติก็ยังไม่ลดลง ซึ่งข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่ามีผู้บาดเจ็บเกือบ 1 ล้านคนต่อปี และพิการมากกว่า 6 พันคนต่อปี โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญอย่างปีใหม่ สงกรานต์ซึ่งมักเกิดอุบัติเหตุมากกว่าช่วงวันปกติถึง 2 เท่า อย่างเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 501 ราย จาก 416 รายในปี 2558 คือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ดัชนีความรุนแรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 โดยมีการเสียชีวิตที่เกิดเหตุร้อยละ 52.89 เสียชีวิตระหว่างนำส่งร้อยละ 4.99 และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลร้อยละ 36.73

 

นอกจากนี้ การบาดเจ็บต้องนอนโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.42 ด้วย ทั้งนี้ กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ยังเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดร้อยละ 21.04 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 20-24 ปี เสียชีวิตร้อยละ 15.35 ทั้งนี้จักรยานยนต์ยังเป็นพาหนะที่เกิดการเสียชีวิตสูงสุดร้อยละ 60 โดยร้อยละ 31 เกิดจากการล้มเองไม่มีคู่กรณี รองลงมาคือชนกับรถปิคอัพร้อยละ 29
นพ.อัษฎางค์ กล่าวต่อว่า โดยจะเห็นว่ารถจักรยานยนต์ล้มเองค่อนข้างมาก ซึ่งคิดว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับการเมาแล้วขับ และมีการใช้ความเร็วสูง นอกจากนี้ ยังพบการเกิดอุบัติเหตุใหญ่คือมีคนเสียชีวิต 2 รายขึ้นไป บาดเจ็บ 4 รายขึ้นไปนั้นมีมากถึง 57 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 1.65 ของอุบัติเหตุทั้งหมด แต่มีการเสียชีวิตเป็นร้อยละ 18 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั้งหมด โดยรถปิคอัพ เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่มากที่สุด ร้อยละ 43 ส่วนใหญ่ละ 49 จะเกิดบนถนน 2 เลนสวนกัน เพราะใช้ความเร็งสูง แซงในที่คับขัน รองลงมาคือ หลับในซึ่งเกิดแบบไม่มีคู่กรณีประมาณเที่ยงคืนถึงตี 4
“จากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางมาตรการป้องกันอุบัติเหตุสงกรานต์ปีนี้ไม่ได้มีการตั้งเป้าเป็นตัวเลขหรือเป็นเปอร์เซ็นต์ว่าต้องลดจำนวนอุบัติเหตุลงเท่าไหร่ ลดเจ็บ ตายเท่าไหร่ เพียงแต่บอกว่าต้องลดสิ่งเหล่านี้ลงให้ได้มากที่สุด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคก็มีส่วนในการป้องกันด้วย โดยจะมีการหารือและวางแผนกันอีกครั้งในวันศุกร์นี้ หลักๆ คือต้องมีการเข้มงวดมากๆ เรื่องการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มความเข้มงวด เพิ่มเจ้าหน้าที่ออกตรวจ การส่งเสริมการคาดเข็มขัดนิรภัย และการสวมหมวกกันน็อค ซึ่งประเด็นหมวกกันน็อคนั้นขอให้เลือกที่ป้องกันการบาดเจ็บทางศีรษะได้จริง คือชนิดเต็มใบที่คลุมมาถึงคาง และที่สำคัญต้องติดสายรัดทุกครั้ง” นพ.อัษฎางค์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน