บิ๊กป้อม มอบนโยบายก.แรงงาน เปิด 9 แผนหลัก ชู 2 โมเดลพัฒนาแรงงาน-ก้าวสู่อาเซียน

บิ๊กป้อม / ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม และมอบนโยบายต่อผู้บริหารระดับสูง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้กำหนดเป้าหมายชัดเจนที่จะพัฒนาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง 2 โดยมุ่งหมายให้คนไทยในทุกช่วงวัยเป็นกำลังคนคุณภาพที่จะผลักดันประเทศให้เติบโต อย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายแก่ผู้บริหาร ข้าราชการ ย้ำให้เร่งผลิตแรงงานคุณภาพเป็นกำลังคนในการพัฒนาประเทศโดยได้มาเป็นประธานประชุมมอบนโยบายวันนี้ (16 ส.ค.62) โดยมีม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

พร้อมได้มอบนโยบายขอให้ดำเนินการตาม 9 แผนงานหลัก ดังนี้

1.ให้กำหนดแผนงานที่ชัดเจน ในการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล รวมทั้งเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกำลังแรงงานและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

2.ผลิตกำลังแรงงานคุณภาพ รวมทั้งพัฒนาทักษะอาชีพให้คนทุกช่วงวัย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการในทุกภาคส่วน รวมไปถึงรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

3.ส่งเสริมการมีงานทำที่มีคุณค่าให้คนทุกกลุ่ม และสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่สมดุล ระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว รวมทั้งคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบให้ได้รับรายได้ สวัสดิการและหลักประกันทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม กับการดำรงชีพ

4.สร้างกระบวนการที่ได้รับการยอมรับ ผ่านกลไกคณะกรรมการไตรภาคีในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับแรงงานแรกเข้า และค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่เหมาะสมกับทักษะความเชี่ยวชาญ เพื่อจูงใจ ให้กำลังแรงงานพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

5.วางระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่งเสริมและคุ้มครองให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างมีศักดิ์ศรี ถูกต้องตามกฎหมาย และป้องกันการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ

6.เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงาน การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การใช้แรงงานเด็ก และการใช้แรงงานในภาคประมง

7.ส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาทักษะให้กับแรงงาน ที่ประกอบอาชีพอิสระให้มีอาชีพ มีรายได้
มีหลักประกันทางสังคม ตลอดจนส่งเสริม ให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือ ผู้ผ่านการต้องขัง

8.สำหรับเรื่องการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติ ให้พิจารณาระบบจัดจ้างเอกชนมารับจดทะเบียนแทนด้วย

9.ให้พิจารณาจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแรงงานต่างด้าว ทั้ง 3 สัญชาติ ในระบบไบโอแมททริกซ์เพื่อพัฒนาไปเชื่อมต่อกับระบบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ตามแผนงานหลัก 9 แผน ดังกล่าวได้ชู 2 โมเดล คือ

โมเดลแรก เรื่องการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติ ให้พิจารณาระบบจัดจ้างเอกชนมารับจดทะเบียนแทนจะทำให้การบริการต่อนายจ้างและลูกจ้างคล่องตัวขึ้น

โมเดลที่สอง การพิจารณาจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแรงงานต่างด้าว ทั้ง 3 สัญชาติ ในระบบไบโอแมททริกซ์ เพื่อพัฒนาไปเชื่อมต่อกับระบบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง การเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลของกระทรวงแรงงานจะเป็นระบบเดียวกันกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบประวัติบุคคล?

นโยบายที่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุน
1.เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ให้สามารถแข่งขันได้โดยการพัฒนาทักษะ ความเป็นผู้ประกอบการ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพ
2.พัฒนาคนตามความต้องการของพื้นที และชุมชน สร้างหลักสูตร ฝึกอบรมทักษะ ฝีมือระยะสั้น โดยทำงานร่วมกับสถานประกอบการ และภาคการศึกษา เพื่อให้สามารถพัฒนาทักษะมาเทียบเคียงเป็นหน่วยกิตต่อยอดเป็นใบปริญญาชุมชน
3.ร่วมรณรงค์ ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการ
4.สนับสนุนความเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยยกระดับศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ ให้เป็นศูนย์กลางการใช้ Big Data ด้านแรงงานที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน ได้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น พล.อ.ประวิตร ยังได้เน้นย้ำให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยให้กำหนดแผนงานเพื่อพัฒนากำลังแรงงานรองรับอุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล รองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกำลังแรงงานและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผลิตกำลังแรงงานคุณภาพ พัฒนาทักษะอาชีพสอดคล้องกับความต้องการในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ส่งเสริมการมีงานทำ คุ้มครองแรงงานในระบบและนอกระบบให้มีรายได้ สวัสดิการ และหลักประกันทางสังคม

สร้างกระบวนการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผ่านกลไกไตรภาคีในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานแรกเข้าและค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่เหมาะสมกับทักษะความเชี่ยวชาญ เพื่อจูงใจให้กำลังแรงงานพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศอย่างมีศักดิ์ศรี ถูกกฎหมาย และป้องกันการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงาน การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย และแรงงานภาคประมง ส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาทักษะให้แรงงานอิสระมีอาชีพ มีรายได้ มีหลักประกันทางสังคม และส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ต้องขัง

ตามรายงานสภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2562 จากสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานในปัจจุบันไว้ดังนี้
การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานลดลง รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ไตรมาสหนึ่งปี 2562 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นนอกภาคเกษตรร้อยละ 3.2 ในสาขาการก่อสร้างร้อยละ 10.5 ตามการขยายตัวของพื้นที่ก่อสร้างและการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ สาขาอุตสาหกรรมจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ชะลอตัวลงตามการผลิตที่เชื่อมโยงกับการส่งออก ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารมีการจ้างงานลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 0.2

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอลง และผู้มีงานทำภาคเกษตรลดลงร้อยละ 4.2 อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.9 โดยเป็นการลดลงทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อนร้อยละ 32.2 และ 18.7 ตามลำดับ ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ขณะที่ผลิตภาพแรงงานโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.8 ตลาดแรงงานตึงตัวมากขึ้น โดยจำนวนสัดส่วนผู้สมัครงานใกล้เคียงกับจำนวนตำแหน่งงานว่างเป็น 0.98 เท่า ลดลงจาก 1.35 เท่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เมื่อพิจารณาตามระดับการศึกษา พบว่ามีความต้องการแรงงานในระดับประถมศึกษา และสายอาชีพสูงกว่าจำนวนผู้สมัครงานถึง 2 เท่า สะท้อนความขาดแคลนแรงงานทั้งจำนวนแรงงานและทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการ

ประเด็นที่ต้องติดตามด้านแรงงาน
1.สถานการณ์ภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางการเกษตรและรายได้เกษตรกร จากรายงานสถานภาพน้ำในเขื่อนของกรมชลประทาน พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศอยู่ที่ร้อยละ 53 ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยมีปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงอยู่ที่ร้อยละ 20 (ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2562) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะจากเขื่อนในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกษตรกรควรเตรียมรับมือกับวิกฤติภัยแล้งโดยอาจเปลี่ยนจากการปลูกพืชต้องการน้ำมากมาเป็นพืชหมุนเวียนที่ใช้น้ำน้อยแทน

2.ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งอาจกระทบไทยผ่านการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยในด้านการส่งออก สินค้าที่คาดว่าจะได้ผลกระทบส่วนใหญ่เป็นสินค้าด้านอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อินเทอร์เน็ตโมเด็ม แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรพิมพ์ อุปกรณ์ส่งข้อมูลต่างๆ ชิ้นส่วนยานยนต์ และวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม อาจไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานภาคการผลิตมากนัก เนื่องจากสาขาอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรเข้มข้น (Capital intensive) แต่ต้องเฝ้าระวังการจ้างงานในสาขาบริการท่องเที่ยว เนื่องจากลักษณะของการจ้างงานส่วนหนึ่งเป็นการจ้างงานชั่วคราว ตามปริมาณการเข้าพักของนักท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวจีนและสหรัฐอเมริการวมคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของนักท่องเที่ยวรวม

3.การปรับตัวของตลาดแรงงานภายใต้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ปัจจุบันมีการนำนวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการที่จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นและต้องใช้ทักษะที่หลากหลาย ดังนั้น การพัฒนากำลังแรงงานให้มีทักษะเป็นที่ต้องการของตลาดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการทั้ง 1) การเพิ่มทักษะแรงงาน (up-skill) ให้มีทักษะใหม่ๆ เช่น การพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความยืดหยุ่นเพื่อสามารถรับมือกับงานที่เร่งด่วนหรือมีภาวะกดดันได้ (flexible workforce for critical tasks) การพัฒนาทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ เป็นต้น และ 2) การปรับเปลี่ยนทักษะแรงงาน (re-skill) เช่น การเสริมสร้างทักษะด้านอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม ภายใต้แนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยทำงานให้สามารถพัฒนาตนเองเพื่อรองรับในกรณีที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนอาชีพในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน