ผู้เสพคือผู้ป่วย! รพ.ตร. -บช.น.-ป.ป.ส. เปิดแล้วโครงการรักษาฟรี ช่วยบำบัดผู้ติดยาบ้า-ไอซ์

รพ.ตร. / เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ลานกิจกรรมดนตรีจิตอาสา ชั้น 2 อาคาร มหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ ทางโรงพยาบาลตำรวจ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ร่วมกันจัด กิจกรรมโครงการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดสารกลุ่มแอมเฟตามีน ระยะที่ 1 ภายใต้แนวคิด “ผู้เสพคือผู้ป่วย”

โดยพล.ต.ท.วิฑูรย์ นิติวรางกูร นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ เป็นประธานเปิดตัวโครงการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดสารกลุ่มแอมเฟตามีน ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ โรงพยาบาลตำรวจ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

ภายใต้แนวคิด “ผู้เสพคือผู้ป่วย” เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ติดสารกลุ่มแอมเฟตามีน เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ ยาเค ฯลฯ ให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระบบตามมาตรฐานวิชาชีพและถูกต้องตามหลักกฎหมายและหลักจริยธรรม

ภายในงานมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับ “สารแอมเฟตามีน” โดยพญ.ฐานิยา บรรจงจิตร และพญ.เพ็ญพิชา ลาภโรจน์ไพบูลย์ จิตแพทย์ประจำกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด รพ.ตร นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสำคัญคือ การเสวนาความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน เรื่อง บูรณาการแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ติดสารเสพติด โดยนางประภาสี คัยนันท์ ผอ.ส่วนประสานงานบำบัดรักษายาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ต.อ.อรรถพล อนุสิทธิ์ รองผบก.สส.บช.น. และพญ.เพ็ญพิชา

และยังได้รับเกียรติจาก พ.ต.อ.หญิง อิสริยา สามาอาพัฒน์ รองผบก.กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 ร่วมในงานอีกด้วย

พล.ต.ท.วิฑูรย์ กล่าวว่า “ตามแนวคิดที่ว่า “ผู้เสพคือผู้ป่วย” พรบ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จึงกำหนดให้ผู้ที่ได้รับการตรวจพิสูจน์แล้วว่าเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดจะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสารเสพติด โครงการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดสารกลุ่มแอมเฟตามีน ระยะที่ 1 ของโรงพยาบาลตำรวจ จึงถือเป็นอีกช่องทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้เสพหรือติดสารเสพติดที่ต้องการเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการรักษาในส่วนที่เกินจากสิทธิ์การรักษาของตน

อย่างไรก็ตามผู้เสพหรือผู้ติดสารเสพติดที่มิได้อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย แต่มีความสมัครใจที่จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาก็สามารถติดต่อขอเข้าร่วมโครงการได้เช่นกัน ทางโรงพยาบาลตำรวจหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะเป็นหนึ่งผลักดันให้ผู้เสพหรือติดสารเสพติดตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดและเริ่มต้นกับเส้นทางชีวิตใหม่”

นางประภาสี ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า “จากสถิติผู้เสพสารเสพติดมีประมาณ 200,000 คน โดยเป็นผู้เสพสารกลุ่มแอมเฟตามีน (ยาบ้า ยาไอซ์) ประมาณ 160,000-180,000 คน/ปี คิดเป็นร้อยละ 85 โครงการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดสารกลุ่มแอมเฟตามีน ระยะที่ 1 ของโรงพยาบาลตำรวจ เป็นการทำงานในเชิงบูรณาร่วมกันของหลายหน่วยงานนี้ จึงถือเป็นอีกช่องทางสำหรับผู้ป่วยที่สมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา

แต่ในกรณีที่ผู้เสพมีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดรักษาแบบผู้ป่วยใน ซึ่งปัจจุบันสถานบำบัดแบบผู้ป่วยในมีไม่เพียงพอเนื่องจาก สถาบันธัญญารักษ์มีเพียง 7 แห่งทั่วประเทศ หากในอนาคตโรงพยาบาลตำรวจรับบำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติดแบบผู้ป่วยในด้วยก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ในครอบครัวที่มีผู้ติดสารเสพติดควรให้กำลังใจ ส่งเสริมให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษา โดยสามารถแจ้งเหตุการใช้ยาเสพติดหรือขอรับคำปรึกษาเรื่องการบำบัดรักษายาเสพติด ผ่านสายด่วน ปปส. หมายเลข 1386 ได้อีกช่องทางหนึ่ง”

พ.ต.อ.อรรถพล ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า “โครงการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดสารกลุ่มแอมเฟตามีน ระยะที่ 1 ของโรงพยาบาลตำรวจถือเป็นโครงการที่ดี ถือเป็นการเพิ่มช่องทางในการบำบัดรักษาแก่ผู้เสพสารเสพติด เนื่องจากปัจจุบันมีผู้เสพสารเสพติดที่สมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาจำนวนมาก แต่สถานพยาบาลทั่วไปไม่สามารถรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่ติดสารเสพติดได้ทั้งหมด ส่วนผู้ที่ไม่สมัครใจเข้ารับการบำบัดมักเป็นเยาวชนที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์

หากเยาวชนกลุ่มนี้ได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและทางสถานบำบัดมีการติดตามอย่างต่อเนื่องจนสามารถเลิกใช้สารเสพติดได้และกลับเป็นคนดีของสังคมจะถือเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งอาจต้องมีการทำงานในหลายมิติ ทั้งในส่วนของตำรวจ สถานบำบัดรักษา ครอบครัวและชุมชน โดยหากมีการทำงานประสานกันระหว่างตำรวจในพื้นที่กับสถานพยาบาลจะเป็นประโยชน์ในการติดตามผลการบำบัดรักษาได้”

ภายหลังการเสวนาพบมีผู้สนใจ เข้าสอบถามเกี่ยวกับโครงการเพื่อที่จะนำผู้ป่วยเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาลตำรวจ เป็นจำนวน 2 ราย จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่การจัดงานโครงการครั้งนี้ประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรกที่มีการเปิดโครงการฯ ทางคณะผู้จัดทำโครงการหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีผู้สมัครใจเข้าร่วมบำบัดรักษาอีกอย่างต่อเนื่อง

นอกจากโครงการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดสารกลุ่มแอมเฟตามี ระยะที่ 1 แล้ว เดิมในปี 2561 โรงพยาบาลตำรวจได้เปิดตัว Facebook Page: Depress We Care ซึมเศร้าเราใส่ใจ ซึ่งเป็นช่องทางในการคำปรึกษาทางด้านสุขภาพจิต ผ่าน Inbox Page: Depress We Care และสายด่วน Depress We Care หมายเลข 081-9320000 โดยจะมีนักจิตวิทยา กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ บริการให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งนอกจากการให้ คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแล้ว ยังให้คำปรึกษาด้านยาเสพติดอีกด้วย

จากสถิติปี 2561 มีผู้ขอรับคำปรึกษาผ่าน Inbox Page: Depress We Care จำนวน 308 ราย และผ่านสายด่วน Depress We Care จำนวน 420 ราย ส่วนในปี 2562 (ตั้งแต่ ม.ค.-ส.ค.62) มีผู้ขอรับคำปรึกษาผ่าน Inbox Page: Depress We Care จำนวน 378 ราย และผ่านสายด่วน Depress We Care จำนวน 429 ราย ซึ่งจากสถิติแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ขอรับคำปรึกษามีแนวโน้มสูงเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดสารกลุ่มแอมเฟตามีน ระยะที่ 1 สามารถ ติดต่อสอบถาม และรับคำปรึกษา ได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่าน Inbox Page: Depress We Care และสายด่วน Depress We Care หมายเลข 081-9320000

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน