อธิบดีพช. ประชุมกรมฯ ครั้งแรก ชู “โก่งธนูโมเดล” ขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน

อธิบดีพช. / วันที่ 16 ต.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เป็นประธานการประชุมกรมการพัฒนาชุมชน ครั้งที่ 10/2562 ผ่านระบบวิดีโอ Conference ไปยังสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ทุกจังหวัด ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของการดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน โดยมีรองอธิบดีฯ ผู้ตรวจราชการกรม ผู้อำนวยการสำนัก/กอง/ศูนย์ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน

อธิบดี พช. ได้กล่าวทักทายเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับ พร้อมมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานกรมการพัฒนาชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้ภายใน ปี 2565

ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชา และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทาง ภายใต้แนวคิด “Change for Good” ผ่านโครงการสำคัญอาทิ โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดรายจ่าย โครงการสัมมาชีพชุมชน เพื่อสร้างอาชีพ โครงการ OTOP Academy ในการสร้างงานสร้างอาชีพ โครงการตลาดประชารัฐ เป็นต้น โดยใช้กองทุนต่างๆ ที่อยู่ในกำกับของกรมฯ เป็นแหล่งเงินทุน และสวัสดิการชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นต้น

อธิบดี พช. ยังได้ยกตัวอย่างความสำเร็จในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมและให้กำลังราษฎร และแนะนำกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถนำมาเป็นแบบอย่างที่ดี อาทิโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง”

ส่วนใหญ่ปลูกไว้รับประทานเองในครัวเรือนและแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน โดยบ้านของนายรังสรรค์ ไผ่สำฤทธิ์ ราษฎรหมู่ที่ 5 ตำบลโก่งธนู ยังเป็นคลังเมล็ดพันธุ์ผักสำรองของตำบลโก่งธนู เมื่อขาดแคลนสามารถมารับเมล็ดพันธุ์ผักไปเพาะปลูกได้

นอกจากนี้ มีการใช้พื้นที่บริเวณบ้านจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการบริหารจัดการขยะของตำบลโก่งธนู โดยมีหน่วยงานในท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการขยะด้วยการงดใช้ถังขยะ และให้ชาวบ้านในพื้นที่นำขยะมาขายให้กับจิตอาสาที่รับซื้อในแต่ละหมู่บ้าน

โดยจะมีสมุดบัญชีให้กับสมาชิกเพื่อสะสมเงินออมที่ได้จากการนำขยะมาขาย อีกทั้งยังมีสวัสดิการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ซึ่งจะนำเงินส่วนหนึ่งของสมาชิกไปช่วยเหลือครอบครัวของสมาชิกที่เสียชีวิต โดยปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1,700 คน

ทั้งยังให้แต่ละครัวเรือน นำถังที่เหลือใช้มาทำเป็นถังขยะเปียก โดยนำเศษอาหารทิ้งไว้ในถังเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อนำไปเป็นสารบำรุงดินใส่ต้นไม้และพืชผัก จึงเป็นการช่วยลดขยะและยังช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย อีกทั้งได้จัดตั้งกลุ่มจักสานบ้านเกาะ หมู่ 5 ขึ้น มีสมาชิก 30 คนเพื่อร่วมกันนำขยะมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้

เช่น ตะกร้าสาน กล่องใส่กระดาษทิชชู และกระเป๋าสานจากกล่องนม การทำพวงหรีดจากพัดจักสาน เพื่อลดการใช้ดอกไม้สดอันจะก่อให้เกิดขยะจำนวนมาก และไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยการทำพวงหรีดจากพัดจักสานช่วยสร้างรายได้ให้กับกลุ่มมากถึงปีละ 300,000 บาท

การประชุมครั้งนี้ ทำให้ผู้บริหาร รวมถึงพัฒนาการจังหวัด ได้รับฟังแนวทางในการปฏิบัติงาน และได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ตลอดจนข้อแนะนำต่างๆ ในการปฏิบัติงาน จึงถือได้ว่า เป็นการร่วมกันขับเคลื่อนงาน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน