รพ.ตำรวจ ครบ 30 ปีปลูกถ่ายอวัยวะไต 215 ผู้ป่วย เดินหน้าเร่งพัฒนาการรักษา

รพ.ตำรวจ / ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชัยจินดา 1 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษาชั้น 20 โรงพยาบาลตำรวจ จัดงานครบรอบ 30 ปี ปลูกถ่ายอวัยวะโรงพยาบาลตำรวจ ศูนย์ปลูกถ่ายไตและอวัยวะโรงพยาบาลตำรวจ โดยคณะทำงานโครงการปลูกถ่ายอวัยวะโรงพยาบาลตำรวจ จัดงานครบรอบ 30 ปีปลูกถ่ายอวัยวะโรงพยาบาลตำรวจ โดยมีพล.ต.ต.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ (สบ7) โรงพยาบาลตำรวจ เป็นประธานในพิธี

พล.ต.ต.ทวีศิลป์ กล่าวถึงโครงการปลูกถ่ายอวัยวะโรงพยาบาลตำรวจว่า โรงพยาบาลตำรวจได้เริ่มรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยวิธีผ่าตัดปลูกถ่ายไตมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ดำเนินมาจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 30 ปีการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเป็นงานที่ต้องอาศัยทีมสหสาขา ที่เกี่ยวข้องทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาลได้แก่ ศัลยแพทย์หลอดเลือด ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะวิสัญญีแพทย์ ห้องผ่าตัด ICU หอผู้ป่วยหลังผ่าตัดหน่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ เภสัชกร โภชนากรและศูนย์โรคไต เป็นต้น

ส่วนทีมนอกหน่วยงานเช่น ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดและสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้เรามีหน่วยงานสนับสนุนหลักของโครงการปลูกถ่ายอวัยวะคือ มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย หน่วยงานสนับสนุนภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปที่สนใจร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการปลูกถ่ายอวัยวะโรงพยาบาลตำรวจ เป็นต้น ทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายให้ได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้อย่างราบรื่นตลอดมา

การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงขึ้นไม่ต้องเดินทางไปฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งสามารถทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงคนปกติที่สุด ซึ่งแสดงถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยนั่นเอง โครงการปลูกถ่ายไตโรงพยาบาลตำรวจก้าวต่อไปอย่างมั่นคงได้ก็ด้วยการที่มีทีมงานที่เข้มแข็ง มีความสามัคคี มีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันทำให้สามารถขับเคลื่อนโครงการปลูกถ่ายอวัยวะโรงพยาบาลตำรวจก้าวสู่ทศวรรษต่อไปอย่างยั่งยืน

ด้านพ.ต.อ.ทองอยู่ เงินสุข ตัวแทน ผู้รับบริจาคไตและมีชีวิตหลังผ่าตัดปลูกถ่ายไตถึงปัจจุบันเป็นเวลา 23 ปีได้กล่าวถึงความรู้สึกว่า ขอขอบคุณทีมแพทย์ พยาบาลและสหวิชาชีพ ศูนย์ปลูกถ่ายไตและอวัยวะโรงพยาบาลตำรวจ เป็นอย่างสูงที่มอบชีวิตที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข สุขภาพแข็งแรงเหมือนคนปกติเกือบ 100% และฝากถึงผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตและรอการผ่าตัดฯทุกคน ให้ดูแลไตที่ได้มาอย่างระมัดระวังและใช้ชีวิตให้มีคุณค่าสมกับการได้รับโอกาส

ส่วนตนนั้นได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เล่นกีฬาจนได้รับรางวัลสร้างชื่อเสียงให้กับรพ.ตำรวจ ให้ผู้คนได้รับทราบว่ารพ.ตำรวจมีทีมแพทย์ พยาบาลและสหวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถเปลี่ยนไตได้ ทั้งที่รพ.ตำรวจไม่ใช่โรงเรียนแพทย์ และขอขอบพระคุณท่านผู้บริจาคไตทุกท่านเป็นอย่างสูงมา ณ. โอกาสนี้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากนพ.วิสิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย เข้าร่วมแสดงความยินดี

สำหรับประวัติความเป็นมาของศูนย์ปลูกถ่ายไตและอวัยวะ โรงพยาบาลตำรวจ ได้เริ่มรักษาผู้ปวยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยวิธีการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ซึ่งในชุดแรกนั้น มีทีมการผ่าตัดกลุ่มเล็กๆที่ร่วมกันทำโครงการนี้ได้แก่ พล.ต.ต.วิบูลย์ วัฒนายากร เป็นศัลยแพทย์, พล.ต.ท.หญิงสุวัฒนา โภคสวัสดิ์ วิสัญญีแพทย์, พ.ต.อ.หญิง บุปผาชาติ อักษรนันท์ นักสังคมสงเคราะห์, พ.ต.อ.หญิง สุรางค์รัตน์ หัวหน้า ICU, พ.ต.ท.มั่น อุดมพาณิชย์ อายุรแพทย์โรคไต และ พ.ต.ท.หญิง อรวรรณ ทรงนิล พยาบาลผู้ประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะ

ทีมได้ทำการผ่าตัดให้ผู้ป่วยคนแรกของโรงพยาบาลและเป็นข้าราชการตำรวจชื่อ ด.ต. ไพศาล เพชรพันธ์ ซึ่งเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ทำให้ผู้ป่วยรายนี้ ได้มีชีวิตใหม่กับไตใหม่นี้ได้นานถึง 29 ปีเลยทีเดียว

ต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการปลูกถ่ายอวัยวะ รพ.ตร. ขึ้นในปี พ.ศ.2543 โดยมีพล.ต.ต. สันติ จิตต์จารึก ผู้บังคับการโรงพยาบาลตำรวจเป็นประธานคณะกรรมการโครงการปลูกถ่ายอวัยวะมี พล.ต.ต. อานุภาพ ธรรมพิพิธ เป็นรองประธาน และมีหัวหน้างานต่างๆเป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งในเวลานั้น พล.ต.ต.วิบูลย์ และ พล.ต.ต.หญิง สุวัฒนาฯ ยังคงเป็นที่ปรึกษามาโดยตลอด

ในช่วงแรกของการก่อตั้งพบอุปสรรคและปัญหามากมายเนื่องจากเป็นการริเริ่มจากกลุ่มทีมงานเล็กๆแต่ในปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานโดยเฉพาะมูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจในพระบรมราชินูปถัมภ์ และจากวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจที่ตั้งเป้าให้หน่วยไตมีความก้าวหน้าพัฒนาศักยภาพก้าวสู่การเป็น Excellence Center ด้านโรคไตจึงเป็นจุดกำเนิดศูนย์โรคไตแห่งใหม่ของโรงพยาบาลตำรวจ

จากนั้นจึงมีการวางแผนทางด้านการปรับปรุงพื้นที่การเตรียมความพร้อมของบุคลากรทั้งแพทย์และพยาบาลส่วนด้านอุปกรณ์การแพทย์ได้มีการสรรหารวมทั้งได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเครื่องไตเทียมที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถผลิตน้ำบริสุทธิ์ Reverse osmosis ที่มีระบบผลิตที่มี ความปลอดภัยได้มาตรฐานสากล เครื่องล้างไตทางช่องท้องชนิดอัตโนมัติพร้อมที่จะให้บริการผู้ป่วยโรคไตอย่างครบวงจร

โดยแบ่งเป็นการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม(hemodialysis) ขยายบริการจากเดิมมี 9 เตียงเพิ่มเป็น 12-15 เตียง รองรับปริมาณผู้ป่วยเพิ่มจาก 150-200 รายต่อเดือนเป็น 200-300 รายต่อเดือนคิดเป็น 50% โดยเฉลี่ย การล้างไตทางช่องท้องจากเดิม 20-30 ราย เพิ่มเป็น 50-100 ราย พร้อมพัฒนาระบบการล้างไตทางช่องท้องชนิดใช้เครื่องอัตโนมัติให้เป็นศูนย์ศึกษาดูงานที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ อีกทั้งยังมีการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังปลูกถ่ายไต มีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมาตั้งแต่พ.ศ 2532 ถึงปัจจุบันรวม 215 รายและจะมีการพัฒนาให้มีการบริจาคอวัยวะชนิดสมองตายเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาให้มีการเพิ่มปริมาณผู้ป่วยตำรวจและครอบครัวทั่วประเทศได้รับการปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้นจากกรณีผู้บริจาคมีชีวิต

ในการจัดงานครบรอบ 30 ปี โครงการปลูกถ่ายอวัยวะโรงพยาบาลตำรวจในครั้งนี้มีผู้ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก เพื่อร่วมพิธีสงฆ์ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้บริจาคอวัยวะและผู้รับอวัยวะที่ล่วงลับไปแล้ว และมีโอกาสได้ขอบคุณหน่วยงานที่สนับสนุน ,ผู้อุปการคุณแก่โครงการปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลตำรวจ, คณะทำงาน โครงการปลูกถ่ายอวัยวะโรงพยาบาลตำรวจ รวมถึงได้ร่วมประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงาน โครงการปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลตำรวจ ให้เป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไปอีกด้วย…

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน