ชูโมเดล ‘สาวพักตับ’ ช่วย คนเลิกเหล้า ต.นาข้าวเสีย งดมากสุดในจังหวัดตรัง สสส.ย้ำกระจายอำนาจชุมชนร่วมแก้ปัญหา ยก ‘นาข้าวเสีย’ ต้นแบบตำบลงดเหล้า ช่วยจากพื้นที่สีแดงกลายเป็นพื้นที่คนงดเหล้ามากที่สุดในจังหวัด ลดภาษีสรรพสามิตลงครึ่งหนึ่งจาก 6 แสนบาทต่อปีเหลือ 3 แสนบาทต่อปี

คนเลิกเหล้า / เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายหลังศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบด้านการจัดการความปลอดภัยเชิงบูรณาการประเด็นแอลกอฮอล์ อบต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง ว่า สสส. ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดหล้า (สคล.) ริเริ่มโครงการรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 เพื่อเชิญชวนให้คนไทย ลด ละ เลิก การดื่มเหล้า

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

โดยใช้แนวทางจากการสร้างชุมชนคนสู้เหล้า โดยมีแกนนำชุมชน อสม. และแกนนำนักรณรงค์คนหัวใจเพชร (เลิกเหล้าตลอดชีวิต) ที่เป็นจิตอาสา ช่วยสื่อสารและร่วมขับเคลื่อนงานรณรงค์เลิกเหล้าในชุมชนโดยชวนให้งดเหล้าเข้าพรรษาเป็นจุดเริ่มต้นของการงดตลอดชีวิต พื้นที่ ต.นาข้าวเสีย ถือเป็นหนึ่งใน 892 ชุมชนทั่วประเทศที่ร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาของ สสส. และประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการแก้ปัญหาประเด็นเหล้า โดยสร้างแกนนำในชุมชนเป็นพี่เลี้ยง ชี้ชวนให้ตระหนักถึงผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อชีวิตของตนและครอบครัว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แตกต่างจากสังคมเมืองของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้มีการมาดูแลช่วยเหลือกันให้เลิกเหล้าเหมือนในชุมชนต่างจังหวัด เป็นสิ่งที่ สสส.ต้องมาเรียนรู้

“ชุมชนจะต้องเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาและมีทางแก้ไข ซึ่งชาว ต.นาข้าวเสีย พิสูจน์เรื่องนี้อย่างดี เพราะทนไม่ได้ที่เห็นเยาวชนจับกลุ่มดื่มเหล้า พ่อบ้านตั้งวงดื่มเหล้า และเกิดปัญหามากมาย จึงรวมตัวกันคิดว่าทำอะไรได้บ้าง เอาผู้หญิงที่มีปัญหามาพูดคุยกัน สุดท้ายก็สามารถชนะปัญหาต่างๆ ได้ อย่างเรื่องการใช้เงินในกระเป๋าของครอบครัวไปซื้อเหล้า บุหรี่ พนัน ซึ่งบั่นทอนเศรษฐกิจครอบครัว ถ้าลดละเลิดได้ครอบครัวจะมีความสุขมากขึ้น ลูกมีตัวอย่างที่ดี อนาคตก็จะไปในทางที่ดีขึ้น อย่างนาข้าวเสียซึ่งเดิมเป็นพื้นที่สีแดงมีคนติดสุราจำนวนมากก็ลดลงได้มากที่สุดในจังหวัด” นพ.คำนวณ กล่าว

นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า จากการประเมินผลการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2562 โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) และสสส. พบมีผู้ร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา 53.5% แบ่งเป็น ผู้ที่งดเหล้าตลอดพรรษา 31% และผู้ที่งดบางช่วงและลดการดื่ม 22.5% กลุ่มที่ลด ละ เลิกดื่ม ส่วนใหญ่ระบุว่าทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ เฉลี่ยรายละ 1,284 บาท ภาพรวมทั้งประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายได้นับหมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังพบว่าในเดือนที่มีรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ช่วยลดผู้เสียชีวิตจากทุกสาเหตุลง 9% การเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ลดลง 25% และยังส่งผลให้การดื่มลดลง 10% อีกด้วย นอกจากนี้ ผลสำรวจตั้งแต่ปี 2559-2561 พบว่า มีคนอยากเลิกดื่มตลอดชีวิต 13% อยากลดปริมาณลง 58% แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มที่จะลด ละ เลิกดื่มมากถึง 71%

นางพยอม หนูนุ่ม ชาวบ้าน ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง หนึ่งในสมาชิกสาวพักตับผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการดำเนินงานขบวนการ “สาวพักตับ ช่วย ชม เชียร์ คนสู้เหล้า” กล่าวว่า คำว่าสาวพักตับได้เรียกติดปากกันมาตั้งแต่ปี 2558 มาจากเครือข่ายอาสาสมัครสตรี ซึ่งเป็นแกนนำชวนเลิกเหล้า และสวมเสื้อพักตับ โดยการทำงานเริ่มต้นจากการชักชวนคนใกล้ตัวคือสามีเข้าร่วมกิจกรรม จากนั้นชวนลูกหลาน คนใกล้บ้านเข้าร่วม ระยะแรกมีคนต่อต้านและมีผู้เข้าร่วมเพียงเล็กน้อย จึงได้พัฒนากลยุทธ์สำคัญคือการสร้างพลังทางใจและแรงจูงใจให้กับผู้ดื่มเหล้า ช่วยให้คนที่อยากเลิกเหล้าทำสำเร็จ ทำให้มีจำนวนผู้ดื่มเหล้าลงลงทุกปี

ปัจจุบันขบวนการ “สาวพักตับ ช่วย ชม เชียร์ คนสู้เหล้า” มีสมาชิก 110 คน โดยปี 2562 นี้ ได้ชักชวนคนเลิกเหล้ารวม 66 คน สามารถเลิกเหล้าตลอดพรรษาเป็นคนหัวใจหิน 56 คน และสามารถเลิกเหล้าตลอดชีวิตเป็นคนหัวใจเพชร 10 คน จากการได้ติดตามผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมพบว่าครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,000-3,000 บาทต่อเดือน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ครอบครัวไม่ทะเลาะกัน สร้างความอบอุ่นในครอบครัว

นอกจากนี้ กลุ่มสาวพักตับยังได้ร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่นๆ ในอ.นาโยง เช่น การช่วยเหลือ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ยากไร้ เมาไม่ขับ ขับปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย มอบอาหารเครื่องดื่มให้กับจุดตรวจช่วงสงกรานต์ ปีใหม่ ฯลฯ สำหรับพื้นที่ ต.นาข้าวเสีย เคยมีภาษีสรรพสามิตสูงถึง 6 แสนบาทต่อปี หลังจากรณรงค์พบว่าช่วยลดการจ่ายภาษีสรรพสามิตลงครึ่งหนึ่ง เหลือประมาณ 3 แสนบาทต่อปี

เมื่อถามถึงปัญหาการดื่มใน กทม. ที่ไม่มีชุมชนมาช่วยเลิกดื่มจะแก้อย่างไร นพ.คำนวณ กล่าวว่า การกระจายอำนาจ มีท้องถิ่น อบต. เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนชาวบ้านทำกิจกรรมต่างๆ แต่ กทม.คือใหญ่มาก เวลามีปัญหาไม่รู้ว่าจะบอกใคร แต่ชุมชนที่นี่มีปัญหารวมตัวกัน ชุมชนก็ช่วยต่างๆ และขอการสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของสังคมชนบทที่สังคมเมืองไม่มี คือความห็นอกเห็นใจ น้ำหนึ่งใจเดียวกัน การมีชุมชนที่เข้มแข็งเป็นทิศทางออกการแก้ปัญหาทุกเรื่อง

ส่วนใน กทม.นั้น มองว่า อีกไม่นานคงมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถ้าเผื่อผู้ว่าฯ กทม.มีนโยบายที่จะให้มีการรวมตัวของชุมชนเล็กๆ ไม่ใช่แล้วมี ส.ส. สภา แบบนี้ใหญ่เกินไป แต่ให้ทุกชุมชนรวมตัวกัน มีตัวแทนคิดปัญหา หยิบยกปัญหามาดูว่าจะแก้ไขอะไรได้บ้าง แล้วผู้ว่าฯ กทม.ที่มีงบประมาณกำลังคบนมาทำตัวเป็นผู้สนับสนุนจะแก้ปัญหาได้เยอะ รวมถึงเรื่องขยะ สารพัดปัญหาก็จะแก้ในระดับชุมชนได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน